วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

“๓ เครื่องมือ” สร้าง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ”

๙ มกราคม ๒๕๕๗

วันเดียวกับที่ผมเดินทางไปทำงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิจารณาคดีแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน ที่นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และตัวแทนชาวบ้าน รวม ๔๕ คน ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบ.อช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ว่า การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ

ผมคงไม่ลงรายละเอียดถึงผลการพิจารณาว่าออกมาอย่างไร

แต่อยากหยิบยกคดีนี้มาเป็นกรณีศึกษา ชี้ให้เห็นถึง “กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ” ที่ขาดการยอมรับจากเครือข่ายภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันในระดับโลกมาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว

เก็บเล็กประสมน้อยครั้งที่แล้ว ผมได้ชวนทุกท่านมารู้จัก “นโยบายสาธารณะ” ที่มีชีวิต ว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และเกี่ยวอะไรกับเราในฐานะ “ประชาชนคนธรรมดา” “คนตัวเล็กตัวน้อย” (ทุกท่านสามารถอ่านเรื่องนี้อีกครั้งได้ที่ http://bwisutttoto.blogspot.com/2014/01/gdgdsgd.html)

มาครั้งนี้ผมขอขยายความคำว่า “เพื่อสุขภาพ” ต่อท้ายคำว่า “นโยบายสาธารณะ” เป็น “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ”

โดยทั่วไปแล้วเวลาพูดถึงคำว่า “สุขภาพ” เรามักมองว่า คือ เรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย การรักษาพยาบาล มดหมอหยูกยา หรือแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข

แต่ถ้าเราไปถามชาวบ้านว่า “สุขภาพ” คืออะไร จะพบความน่าสนใจทันที โดยเฉพาะในกลุ่มผู้อาวุโส หรือปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เพราะคำว่า “สุขภาพ” กลับหมายถึง “การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข” ไม่ว่าจะเป็นสุขจากการมีอยู่มีกินอย่างเพียงพอ สุขจากการมีอาชีพที่มั่นคง สุขจากการมีร่างกายที่แข็งแรง สุขจากการมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม สุขที่อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย สุขจากการมีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน สุขจากการอยู่ในชุมชนที่เอื้ออารีต่อกัน และสุขที่เห็นบ้านเมืองสงบสุขไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน

“สุข” แบบนี้เอง ที่หมายถึง สุขภาวะของคนที่ “อยู่เย็น” และ “เป็นสุข” เชื่อมโยงกันอย่างสมดุล ทั้งมิติทางกาย ทางใจ ทางสังคมและทางปัญญา (จิตวิญญาณ)

ดังนั้นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในความหมายแบบชาวบ้าน จึงหมายถึง กระบวนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายหรือดำเนินโครงการใด ๆ ของภาครัฐ เอกชน และสังคม ต้องแสดงถึงความห่วงใยและความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของคนในพื้นที่นั้นๆ ร่วมด้วย

เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่า การดำเนินการตามนโยบายสาธารณะทุกเรื่อง ย่อมมีผลกระทบต่อบุคคลและสภาพแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ/สุขภาวะ ทั้งทางบวกและทางลบ และทางตรงและทางอ้อม เสมอ

ฉะนั้น หากการดำเนินนโยบายสาธารณะใดก็ตาม ให้ความสำคัญต่อการสร้างสุขภาวะที่ดีของคนและสภาพแวดล้อม จึงเรียกว่าเป็น “นโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ” หรือ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” หรือ “นโยบายสาธารณะที่ดี” นั่นเอง

คำว่า “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” เป็นคำที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๙ ในการประชุมนานาชาติ เรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาพ : การเคลื่อนสู่สาธารณสุขแนวใหม่” ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ซึ่งได้มีการประกาศ “กฎบัตรออตตาวา” (Ottawa Charter) เพื่อกำหนดกลยุทธ์แห่งการสร้างเสริมสุขภาพไว้ ๕ ประการ

ประกอบด้วย
(๑) การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
(๒) การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
(๓) การเสริมสร้างกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็ง
(๔) การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลเพื่อสุขภาพที่ดี
(๕) การปรับเปลี่ยนบริการสาธารณสุข

ต่อมาในเวทีประชุมนานาชาติเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๓๑ ณ เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ได้หยิบยกเรื่อง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” มาแลกเปลี่ยนกัน และได้ร่วมกันให้คำนิยามไว้ว่า

“นโยบายสาธารณะที่แสดงความห่วงใยอย่างชัดเจนในเรื่องสุขภาพ พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายที่มุ่งสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและกายภาพที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และมุ่งให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ก่อให้เกิดสุขภาพดีได้”

โดยมีข้อเสนอว่า หากต้องการจะทำให้ทุกภาคส่วนมีการสร้าง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิด ๕ เรื่องสำคัญนี้ให้ได้ในเบื้องต้นก่อน ได้แก่

(๑) ต้องช่วยกันสร้างความตระหนักในคุณค่าของสุขภาพว่าเป็นเรื่องของสุขภาวะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ด้วยความรับผิดชอบของทุกฝ่ายในสังคม

(๒) ต้องสนับสนุนข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการดำเนินการนโยบายสาธารณะต่างๆ โดยนำเสนอข้อมูลต่างๆ ต่อสาธารณะ เพื่อชวนทุกฝ่ายในสังคมเข้ามาร่วมคิดร่วมทำ

(๓) ต้องมีสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ การสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพื่อร่วมรับผิดชอบสังคมที่จะนำไปสู่การมีสุขภาวะร่วมกัน

(๔) ต้องช่วยกันนำเสนอทางเลือกของนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่สามารถปฏิบัติได้ให้มากๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมช่วยกันคิดต่อ ผลักดันต่อให้ประสบผลสำเร็จ

(๕) ต้องถือเป็นหน้าที่ในการเข้าร่วมกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อให้ได้ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” สร้างจิตสำนึกพลเมืองที่สนใจเรื่องของส่วนรวม และกระตือรือร้นเข้าร่วมคิดร่วมสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาสังคมสุขภาวะร่วมกัน

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพมาควบคู่กับการขับเคลื่อนระดับสากล จนในปี ๒๕๕๐ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดเครื่องมือสร้าง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” ที่มีกฎหมายรองรับไว้ใน ๓ ลักษณะ

ลักษณะที่ ๑ เครื่องมือพัฒนากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ ที่ชื่อว่า “สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งหมายถึง “กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาพของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม”

ลักษณะที่ ๒ เครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment: HIA ซึ่งหมายถึง “การประมาณการณ์ผลกระทบของการกระทำใดการกระทำหนึ่ง ที่มีต่อสุขภาพของประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจครอบคลุมตั้งแต่ระดับโครงการ ระดับแผนงานและระดับนโยบาย โดยคาดการณ์ไปข้างหน้า ก่อนที่จะดำเนินการตามแผนที่วางไว้”

ลักษณะที่ ๓ เครื่องมือกำหนดเป้าหมายร่วมด้านสุขภาพ ที่เรียกว่า “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ” ซึ่งได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายให้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒” และมีพื้นที่ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ได้จัดทำเป็น “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ในหลายพื้นที่

เครื่องมือ ๓ ชิ้นสำคัญนี้เอง ที่เป็นภาพสะท้อนสำคัญว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้ากว่าหลายประเทศในโลกนี้ ที่มีเครื่องมือในการสร้าง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” อีกทั้งยังมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน จนเป็นที่สนใจจากนานาประเทศ มีการเดินทางมาศึกษาดูงานปีละหลายสิบประเทศ

ถ้าเพียงแต่รัฐบาลเหลียวหลังกลับมามองเครื่องมือ ๓ ชิ้นนี้ และใคร่ครวญก่อนลงมือพัฒนานโยบายสาธารณะแต่ละเรื่อง คำนึงถึงการเป็น “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” ผมเชื่อว่าภาพการฟ้องร้องของประชาชนต่อการคัดค้านโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน จะลดน้อยลง หรือหายไปจากสารบบของศาลปกครองเลยทีเดียวครับ.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น