๒ มกราคม ๒๕๕๗
ทุก ๆ วันที่ตะวันใกล้ขึ้นและกำลังลับฟ้า เสียงเทศนาด้วยภาษาแบบบ้าน ๆ ที่ฟังเข้าใจง่ายสอดแทรกด้วยภาษาบาลีในบางช่วง จาก “หลวงตาเม” หรือ “ท่านเจ้าคุณเมธีธรรมประนาท” วัดท่าฬ่อ จะดังแว่วมายังโสตประสาทของชาวบ้านในตลาดทุกคน หลวงตาท่านได้หยิบยกธรรมะพร้อมนิทานชาดกมาเล่าอย่างสนุกสนานจนผู้ฟังเคลิ้มและหยุดทำกิจกรรมชั่วขณะ เสียงที่ดังผ่านลำโพงซึ่งติดตั้งไว้บนยอดต้นตะเคียนที่สูงลิบลิ่ว จนชาวบ้านบางคนได้เรียกขานว่า “ธรรมะจากยอดตะเคียน”
ย้อนหลังกลับไป “วัดท่าฬ่อ” แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าฬ่อ หมู่ที่ ๒ ตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนเมธีพิทยา” แหล่งเรียนรู้ของลูกหลานในตำบลท่าฬ่อและตำบลใกล้เคียง
ชีวิตการศึกษาของผมได้เริ่มต้นที่โรงเรียนแห่งนี้ จากชั้น ป.๑ (ประถมศึกษาปีที่ ๑) จนถึง ม.ศ. ๓ (มัธยมศึกษาปีที่ ๓) เพื่อนร่วมห้องที่เรียนด้วยกัน นอกจากฆราวาสทั้งชายและหญิงแล้ว ยังมีสามเณรและพระภิกษุที่มาจำพรรษาที่วัดเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน
ด้วยความที่เป็นโรงเรียนราษฎร์ซึ่งมี “หลวงตาเม” เป็นผู้ก่อตั้ง การได้เล่าเรียนร่วมกับสารเณรและพระภิกษุ จึงได้ซึมซับธรรมะอย่างใกล้ชิด ทุกๆ เช้าก่อนเข้าห้องเรียนจะมีการสวดมนต์ไหว้พระที่หน้าเสาธง บางชั่วโมงก็มีพระจากวัดมาสอนธรรมะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กัน พอถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทางวัดได้มีการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ไปร่วมอย่างสม่ำเสมอ
สถานที่แห่งนี้จึงนับเป็นแหล่งที่หล่อหลอมให้ผมเข้าใจในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และถือปฏิบัติยึดมั่นมาจนถึงปัจจุบัน
ปีใดที่น้ำหลากจนท่วมโรงเรียน ซึ่งเป็นที่ต่ำกว่าบริเวณวัด ภายใต้ศาลาไม้หลังใหญ่ก็จะกลายสภาพเป็นห้องเรียน โดยชาวบ้านต่างมาช่วยกันขนโต๊ะเก้าอี้ กระดานดำ จากโรงเรียนไปจัดในห้องที่ถูกตีกั้นด้วยไม้กระดาน หรือไม้ไผ่ที่หาได้ในหมู่บ้าน
ภาพนักเรียน และครูเดินบนแผ่นไม้กระดานที่ถูกปูเป็นทางเดินจากหน้าวัดมายังห้องเรียนต่าง ๆ ยังแจ่มชัดในความทรงจำเป็นอย่างดี
ภาพของวัดท่าฬ่อในสมัยนั้น ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านของตาและยายของผมประมาณ ๑ กิโลเมตร แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง แต่นี้คือเป็นเรื่องธรรมดาของ “การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” สภาพแวดล้อมแปรเปลี่ยนจนไม่เหลือภาพแห่งอดีต
สมัยนั้นศาลาการเปรียญ กุฏิ และวิหาร เป็นสิ่งก่อสร้างจากไม้ทั้งหมด ภายในวัดเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ทั้งตะเคียน ยาง ตะแบก สูงสุดลูกหูลูกตา วัดนี้จึงคล้ายวัดป่า สงบและวังเวง และยิ่งเดินผ่านเชิงตะกอนทรงสูงกลางแจ้งที่ทำด้วยเสาไม้สี่เสาหลังคาสังกะสี “ยิ่งชวนให้ขนลุกขนพองเป็นยิ่งนัก”
ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดพุทธประวัติพระเจ้าสิบชาติและประดิษฐานพระพุทธเก่าแก่ปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ และชาวบ้านที่นั่นเชื่อกันว่าการไหว้พระพุทธเจ้าเข้านิพพานจะทำให้หมดทุกข์
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งนามว่า “หลวงพ่อหิน” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารกลางวัด
มีประวัติเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อปี ๒๕๐๒ ใกล้วันสงกรานต์ “หลวงตาเม” เกิดนิมิตเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สวยงามมาก ท่านดีใจและอยากได้มาเป็นมิ่งขวัญและศิริมงคลแก่วัด
จึงขอร้องญาติโยมให้ช่วยสืบหาพระพุทธรูปในนิมิตนั้น จนได้ความว่า มีพระพุทธรูปอยู่จริง แต่มีแต่เศียรเป็นหินแกะสลักสวยงามมาก อยู่กับคบไม้ (ต้นไทร) บ้านชาละวัน ตำบลสนามคลี ชาวบ้านเล่าว่าเศียรพระพุทธรูปนี้แต่เดิมมีคนนำมาจากแถวๆวัดมหาธาตุใกล้ถ้ำชาละวันเมืองเก่า ใครนำไปก็มีอันเป็นไป ต้องนำมาคืนไว้ที่ต้นไทรตามเดิม
“หลวงตาเม” จึงได้ไปที่ต้นไทรนั้น เห็นเศียรพระโผล่ออกมาจากคบไม้เล็กน้อย (คบไม้หุ้มไว้) จึงได้จุดธูปสักการะและอธิษฐานเสี่ยงทายว่า ถ้าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของวัดท่าฬ่อ จะขออัญเชิญไปอยู่วัดท่าฬ่อ ให้บังเกิดความเงียบสงัด ถ้าไม่ยินดีจะไปอยู่ ให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ทันตาเห็น จากนั้นทุกอย่างเงียบสงัดเป็นเวลาประมาณ ๕ นาที
เมื่อเป็นไปดังคำอธิษฐาน จึงได้ใช้ขวานบากคบไม้นำเอาเศียรพระพุทธรูปออกมาและนำไปไว้ที่วัดท่าฬ่อ “หลวงตาเม” ได้ติดต่อช่างจากสุโขทัย มาประกอบเป็นองค์พระได้สำเร็จงดงามและให้เรียกชื่อว่า "พระพุทธศิลามหามุนีนาถ" แต่คนส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า "หลวงพ่อหิน" จนติดปาก เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไปจนล่วงมายังทุกวันนี้
ที่วัดแห่งนี้ยังมีการจัดงานกันบ่อยมาก ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นงานแก้บน “หลวงพ่อหิน” งานแต่ละครั้งก็จะมีทั้งหนังกลางแปลงและลิเก ที่ชาวบ้านมาชมกันอย่างแน่นขนัด
หนังกลางแปลงในสมัยก่อนก็จะเป็นหนังที่พากย์สด ผมชอบไปยืนอยู่แถวๆคนพากย์ บางเรื่องก็มีคนเดียว บางเรื่องก็มี ๒ คน เรื่องใดที่มีคนเดียว ผมจะชอบมากที่เขาจะดัดเสียงเป็นผู้หญิง เรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้ชมยิ่งนัก
ในสมัยนั้นหนังที่ดังมาก เป็นหนังอินเดีย เรื่อง “ธรณีกันแสง” ความยาวกว่า ๑๐ ม้วน ดูกัน ๓ – ๔ ชั่วโมง ฉากใดที่เป็นฉากเศร้า ผู้พากย์ก็สามารถเรียกน้ำตาจากผู้ชมได้เป็นอย่างดี ฉาย ๆ ไป บางครั้งหนังไหม้ก็ต้องหยุดฉายเป็นระยะ เพื่อทำการตัดต่อหนัง โดยคนดูก็จะเดินไปหาซื้อของกินที่ชาวบ้านในย่านนั้นนำมาขาย
คืนใดผมอยากไปดูหนัง บางครั้งก็ได้รับอนุญาตจากพ่อและแม่ หากหนังเรื่องใดที่อยากไปดู แต่แม่ไม่อนุญาต ผมก็จะร้องไห้สะอึกสะอื้น จนแม่ทนไม่ไหวอนุญาตให้ไปก็มี
บางครั้งก็ให้ไปแบบมีเงื่อนไข ผมและพี่ๆ น้องๆ ต้องทำของไปขายในงานด้วย ของที่เราเอาไปขายมีทั้งมันแกว ข้าวโพดต้ม ที่พ่อและแม่ปลูกไว้ที่บริเวณท่าน้ำหน้าบ้านและไร่หลังบ้าน
โดยเราจะเตรียมกันแต่เช้า พอตกเย็นก็จะช่วยกันนำของขายใส่กระจาดแล้วหาบด้วยไม้คาน ไปวางขายที่ลานวัด
วันใดขายหมดไวก็จะได้ดูหนังดูลิเกไวตามไปด้วย แต่วันใดขายหมดช้าก็จะทำได้เพียงชะเง้อดูหรือฟังเสียงที่ดังมาถึงแทน
อีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสนุกสนานให้แก่ชาวบ้านในตำบลท่าฬ่ออย่างมาก ก็คือ การเล่นกลองยาว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันสำคัญ โดยเฉพาะวันตรุษไทยและวันสงกรานต์
“เสียงบรึม ๆ ครึกครื้น ในจังหวะโมงเถิ่งโมง สอดแทรกด้วยเสียงปี่ ฉาบ ฉิ่ง จากขบวนกลองยาว” จะฉุดดึงให้ชาวบ้านชายหญิงออกมาร่ายรำกันอย่างสนุกสนานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ปัจจุบันภาพเหล่านี้ได้สูญหายไปจนหมดสิ้นแล้ว มีสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ปลูกขึ้นมาทดแทน ต้นไม้หลายต้นถูกตัดโค่นลง เพื่อสร้างถนนคอนกรีตและบรรดาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อันนำมาซึ่งวัดสมัยใหม่
กิจกรรมสานสัมพันธ์ใจของชาวบ้านร้านตลาดก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ เลือนหายไปตามกาลเวลาที่ผันผ่าน
แต่ผมก็ยังรำลึกถึงวัดแห่งนี้อยู่เสมอ เพราะเป็นแหล่งอบรมกล่อมเกลาจิตใจมาตั้งแต่วัยเยาว์ อันเป็นรากฐานทุนชีวิตที่สำคัญให้ผมประคองตนมาจนถึงทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น