วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

ความไว้วางใจ คือ หัวใจของเครือข่าย

๑๘ มกราคม ๒๕๕๗

“พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว” หนึ่งในผู้ก่อตั้งเครือข่ายอินแปง จากบ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เคยเล่าให้ผมฟังนานแล้วว่า “อินแปง มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ที่พระอินทร์ได้ทรงสร้าง (แปง) ไว้ให้มวลมนุษย์” ความสำเร็จของเครือข่ายอินแปง จึงเป็นความสำเร็จของมวลมนุษย์ที่มาลงมือก่อร่างพัฒนาร่วมกันจากอดีตตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ จนถึงทุกวันนี้

ที่นี่ให้ความสำคัญกับบริหารที่เน้นลักษณะเฉพาะตามความเหมาะสมภายในท้องถิ่นแต่ละแห่ง มีความเป็นอิสระแก่กัน ไว้วางใจในการทำงานกัน ศูนย์อินแปงจะเป็นเพียงตัวประสานงาน เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลเพียงเท่านั้น”

ไม่ต่างจากที่วันนี้ผมได้มีโอกาสมานั่งล้อมวงฟัง “ดร.เสรี พงศ์พิศ” ชวนคุยเรื่อง “เครือข่าย” และฉายภาพรูปธรรมของ “เครือข่ายอินแปง” เป็นตัวอย่างประกอบ

ล้าสมัยแล้วที่จะทำงานด้วยตัวคนเดียวหรือองค์กรเดียว การทำงานแบบ “เครือข่าย” จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในยุคปัจจุบันและอนาคต

ณ ห้องประชุมลีลาวดี โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗ เต็มไปด้วย “นักสานพลัง” ที่เดินทางมาจากเกือบ ๒๐ จังหวัดทั่วประเทศ กว่า ๔๐ ชีวิต ที่มีทั้งวัยหนุ่ม วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ที่ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์การทำงานพัฒนาชุมชนมายาวนาน

อาจารย์เสรีฯ คนเดินเรื่องได้ชวนมองคิดชวนคุยเรื่อง “เครือข่าย” อย่างรอบด้านอย่างสนุก หากนำมาไล่เรียงถึงแก่นสาระ ทำให้ได้เรียนรู้ถึง

"เครือข่าย" มีความหมายประการหนึ่ง คือ “ขบวนการทางสังคม อันเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน โดยมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และความต้องการบางอย่างร่วมกัน เพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่าง โดยที่สมาชิกของเครือข่ายยังคงความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นต่อกัน”

แต่ในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง “วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นกระบวนทัศน์ใหม่และทำให้มีการจัดความสัมพันธ์ภายในองค์กรหนึ่ง ระหว่างคนในองค์กร และระหว่างองค์กรนั้นกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการเปลี่ยนจากการจัดการแบบลำดับชั้น (hierarchical) มาเป็นการสร้างเครือข่าย (networking)”

โดยวัฒนธรรมองค์กรที่มีกระบวนทัศน์ใหม่นี้ ไม่เน้นการใช้อำนาจในการบริหารจัดการ แต่เน้นการจัดความสัมพันธ์ใหม่ สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากทำงาน และทลายกำแพงกั้นระหว่างกอง ฝ่าย โครงการต่างๆที่อยู่ในองค์กรแห่งนั้น ให้เกิดเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดี และทำงานแบบลักษณะประสานพลัง (Synergy)

กิจกรรมสำคัญที่สุดที่ทุกเครือข่ายต้องทำร่วมกัน คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ แล้วพัฒนาไปสู่การวางแผนเพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ทำให้ด้านหนึ่งหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน อีกด้านหนึ่งทำให้กิจกรรมนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการประสานพลัง (Synergy) เป็นการใช้ทรัพยากร ใช้พลังงาน อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

เงื่อนไขสำคัญของเครือข่าย จึงจำเป็นต้องมีการติดต่อสัมพันธ์สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างสมาชิก อาจมีผู้ประสาน ซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มประสาน แต่ไม่ใช่เป็นผู้ดำเนินการแทนสมาชิกเครือข่ายในทุกเรื่อง

เครือข่ายอาจเป็นเครือข่ายแบบผสมผสานระหว่างสมาชิกที่แตกต่างกันในสถานภาพ เช่น เป็นผู้นำชุมชน ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ แต่เมื่อทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันก็สามารถเป็นเครือข่ายได้

อีกแบบหนึ่ง คือ เครือข่ายขององค์กรหรือคนที่มีสถานภาพเดียวกัน อาชีพเดียวกัน ระดับเดียวกัน เช่น เกษตรกร นักวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิจัย เป็นต้น

เครือข่ายจะยั่งยืนถ้าหากว่าสมาชิกร่วมใจกันตั้งแต่ต้น ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายเลขานุการ ไม่ให้มีคนครอบงำ มีปัจจัยหรือทุนในการดำเนินงาน มีการประสานงานสม่ำเสมอ มีความยืดหยุ่นปรับตัวตามที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบ

ดังนั้นบทบาทของผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน หรือเครือข่ายองค์กรที่ทำงานกับชุมชนจึงมีหลักสำคัญ ๓ ประการ คือ เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา (Facilitator) เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (catalyst) และเป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดเครือข่าย (networker)

อาจารย์เสรีฯ ได้ยกตัวอย่างการทำงานแบบเครือข่ายในชุมชนที่ประสบความสำเร็จให้ฟังหลายพื้นที่ แต่ที่เน้นย้ำคือ การทำงานที่ “เครือข่ายอินแปง”

ดั่งที่ผมเล่าในตอนต้นแล้วถึงความหมายของคำว่า “อินแปง” ที่หมายถึง “สถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมือนพระอินทร์ได้สร้างไว้”

“เครือข่ายอินแปง” มีสมาชิกอยู่ใน ๕ จังหวัดรอบตีนเขาภูพาน คือ สกลนคร กาฬสินธุ์ อุดรธานี มุกดาหาร และนครพนม มีสมาชิกหลายหมื่นคนจนอาจถึงหลักแสน

“ชาวอินแปง” คือ ชาวบ้านในชนบทที่หันกลับมาทบทวนชีวิตของตน แสวงหาสิ่งที่ตนเองทำหล่นหายไประหว่างทางการดำเนินชีวิตของพวกเขา และเริ่มต้นใหม่จากสิ่งที่ตนเองมีอยู่และสิ่งที่ตนเองเป็น โดยไม่ได้ก้าวตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ชาวอินแปงถือเอา “ชีวิต คือ การศึกษา และการศึกษา คือ ชีวิต” ไม่ได้แยกเรื่องทั้งสองออกจากกัน ศึกษาให้รู้จักการอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูล ศึกษาให้สร้างเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาให้เห็นแก่ตัวน้อยลง และเห็นแก่ผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

วิธีคิดของชาวอินแปง คือ ทำอย่างไรจึงจะพึ่งพาตนเองได้ เริ่มจากการกลับคืนสู่รากเหง้า ซึ่งไม่ใช่คืนสู่อดีต แต่หมายถึงการสืบค้นหาคุณค่าของอดีตและนำมาประยุกต์กับปัจจุบันให้สมสมัย ตอบให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” และ “พออยู่พอกิน” แม้ไม่ร่ำรวยแต่มีชีวิตที่มั่นคง มีสวัสดิการที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย

คนอินแปงใช้หลัก ๓ อี คือ Education แปลว่า การศึกษา emancipation แปลว่า การปลดปล่อย empowerment แปลว่า การทำให้เข้มแข็ง หรือการเพิ่มการเสริมพลัง การปลุกพลังจากข้างในให้สำแดงประจักษ์ชัดออกมา

การปลดปล่อยในความหมายของอินแปง คือ การช่วยให้รอดจาก ๗ อย่าง คือ “รอดจากสารพิษ รอดจากการมีหนี้สิน รอดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย รอดจากการถูกเอาเปรียบ รอดจากความไม่เพียงพอ รอดจากกระแสพัดพาไป และรอดจากความเหงา”

อินแปงเป็นตัวอย่างของการปลดปล่อยจากการครอบงำต่างๆ เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คิดได้เอง ตัดสินใจได้เอง เลือกได้เอง โดยไม่ต้องมีใครมาชี้นำ มาครอบงำ มาสอนให้เดินไปในทางที่พวกเขาต้องการ

การศึกษาแบบอินแปงไม่จำเป็นต้องไปเรียนถึงมหาวิทยาลัย เพราะถ้าเรียนเป็น เรียนที่ไหนก็ได้ กับใครก็ได้ที่มีวิชา มีความรู้ ศูนย์อินแปงจึงติดป้ายใหญ่ไว้หน้าศูนย์ว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” เป็น “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน”

การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน หมายถึง การทำให้ชุมชนร่วมมือกันเอง และกับชุมชนใกล้เคียงและเครือข่ายที่กว้างไกลออกไป ข้ามเขตแดนทางภูมิศาสตร์ เป็นชุมชนในความหมายใหม่ เป็นเครือข่ายของคนที่มีแนวคิด มีอุดมการณ์เดียวกัน

ตอนจบอาจารย์เสรีได้สรุปทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “เครือข่ายอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะกฎระเบียบหรือโครงสร้างแบบสถาบัน แต่อยู่ที่ “ความไว้วางใจ” หรือ “Trust” ที่สมาชิกของเครือข่ายมีต่อกัน”

ไม่ต่างจากการทำงานในฐานะ “นักสานพลัง” ที่เป็นการทำงานในลักษณะ “เครือข่าย” อยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องสร้างให้เกิดความ “ไว้วางใจ” ต่อมวลสมาชิกที่สานเข้ามาเป็นเครือข่ายให้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนนั่นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น