๑ มกราคม ๒๕๕๗
คงมีเพียงช่วงอาทิตย์สุดท้ายของเดือนธันวาคมและสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ที่เสียงเพลง “พรปีใหม่” บทเพลงพระราชนิพนธ์ขององค์ในหลวงอันเป็นที่รักของคนไทยทุกคน จักดังขึ้นทั่วผืนแผ่นดินไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ จวบจนปัจจุบัน เพื่อร่วมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็น “พรอันประเสริฐ” สำหรับ “คนไทย” ที่ต่างอาศัยอยู่บนผืนโลกใบเดียวกันนี้
ในวาระที่เป็นวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๗ นี้ ผมจึงขอใช้โอกาส “วันหยุด” หยุดทบทวนตัวเองว่า ในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นกับผมบ้าง
การหยุดทบทวนเป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้เรารู้ว่า สิ่งเก่ากำลังจะผ่านไป สิ่งใหม่กำลังจะเข้ามา ปล่อยวางอดีตจากความผิดหวังที่เดินผ่านเข้ามาและผ่านไปแล้ว วางแผนอนาคตเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง จินตนาการถึงอนาคตที่อยากสรรค์สร้างขึ้นมา กำหนดจังหวะก้าวของชีวิตครั้งใหม่
คิดย้อนหลังกลับไปได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ปี ๒๕๕๖ เป็น “ปีแห่งความสับสน” ของผมจริง ๆ ครับ
ภายหลังจากเสร็จสิ้นงานสำคัญชิ้นหนึ่ง เมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ อยู่ดีๆ ผมก็รู้สึก “เหนื่อย อ่อนล้า และหมดไฟทำงานไปดื้อๆ” แม้งานนี้จักเป็นงานที่ผมรักและเข้ามารับผิดชอบในฐานะ “ผู้อำนวยการ” ร่วมหัวจมท้ายมาในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมาก็ตามที
แน่นอนด้วยภาระงานที่ไหลต่อเนื่อง เหมือนดั่งสายน้ำที่ไม่มีวันหยุด สายน้ำแห่งนี้จึงปะปนไปด้วยสิ่งปฏิกูลที่นับวันจะทับถมทวีหนาขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มเปื่อยเน่า จนไม่เหลือความใสให้มองเห็นอะไรได้ชัดเจนเหมือนก่อนอีกต่อไป
ผมจึงตัดสินใจครั้งสำคัญเขียนจดหมายถึงผู้บริหารสูงสุดขององค์กร บอกความประสงค์ไปว่าจะขออยู่ทำงานไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๕๖ เหตุผลสำคัญคือภารกิจด้าน “ครอบครัว” โดยเฉพาะการกลับไปดูแลลูกชายร่วมกับ “ภรรยา” ที่เขากำลังเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตมิใช่น้อย
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมใช้เวลานานเกือบ ๙ เดือน เหตุผลสำคัญในขณะนั้น คือ หน่วยงานที่ผมดูแลอยู่มีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลเข้าออกบ่อยครั้ง กอปรกับคนทำงานก็มีน้อยมากอยู่แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ การตัดสินใจฉับพลันยิ่งทำให้ “เพื่อนร่วมทาง” โดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามผู้บริหารได้ขอร้องให้ผมช่วยดูแลหน่วยงานนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง และหากเข้าที่เข้าทางแล้วก็จะขอปรึกษาอีกครั้งหนึ่ง
มิถุนายน ๒๕๕๖ ผู้บริหารได้เชิญผมไปคุยอีกครั้งหนึ่ง และตกลงกันว่า “จะปรับย้ายผมให้มาทำหน้าที่ตามที่ผมต้องการและสนใจมากกว่า” ซึ่งก็คือ งานทางด้านวิชาการนั่นเอง
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ วันเริ่มต้นกับตำแหน่งใหม่ “ผู้ช่วยเลขาธิการ” มีหน้าที่สำคัญตามชื่อตำแหน่ง และทำงานสนับสนุนด้านวิชาการตามที่เลขาธิการมอบหมายมา
ผมอยากย้อนกลับไปเล่าให้เห็นถึงเนื้องานที่เป็นแรงผลักสำคัญให้ผมต้องตัดสินใจขอย้าย “งาน” ตนเอง
งานที่ผมรับผิดชอบถือได้ว่าเป็นแบรนด์ขององค์กรแห่งนี้ ทุกคนต่างชื่นชมในเครื่องมือนี้ แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังงานนี้ก็คือ งานบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารการประชุม ทั้งระดับคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ซึ่งจากการรวบรวมสถิติการประชุม ในรอบ ๑ ปี มีการประชุมเกือบ ๑๑๐ ครั้ง นี่ยังไม่นับการประชุมปรึกษาหารือภายในอีกหลายสิบครั้ง
นั่นหมายความว่าใน ๑ สัปดาห์ ต้องมีการประชุมอย่างน้อย ๒ ครั้ง ซึ่งการประชุมแต่ละครั้ง จักมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากมาย เพื่อให้การบริหารการประชุมมีประสิทธิผลสูงสุด นับตั้งแต่ช่วงก่อนการประชุม ระหว่างการประชุม และภายหลังการประชุม ตั้งแต่การทำหนังสือเชิญประชุม การกำหนดระเบียบวาระ การจัดหาสถานที่ประชุม การจัดเตรียมเอกสาร การเตรียมการนำเสนอ การเป็นฝ่ายเลขานุการการประชุม ตลอดจนการสรุปรายงานการประชุม เป็นต้น
“แทบกระอักเลือดครับ” สำหรับงานเหล่านี้กับจำนวนบุคลากร ๕ คน จนน้องๆ ร่วมทีมถึงกับ “บ่นกันอุบ” นอกจากนั้นยังมีงานอื่นในฐานะหัวหน้าหน่วยอีกมากมายมหาศาล
ภาระงานที่แปรผกผันกับจำนวนบุคลากร และทับถมมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดคำว่า “ผมไม่มีความรับผิดชอบต่องาน” จึงปรากฏขึ้นมา และคำพูดนี้เองที่กลายมาเป็นจุดซ้ำเสริมในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
หากมองกลับไป ณ จุดนั้นที่ผมเดินจากมา ณ วันนี้ หน่วยงานที่ผมเคยดูแล ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ามาทำงานอีกเกือบเท่าตัวจากสมัยที่ผมรับผิดชอบ ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งนัก เพราะงานนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรแห่งนี้
ช่วงครึ่งปีหลังของปี ๒๕๕๖ กับตำแหน่งใหม่ ผมได้มีโอกาสเรียนรู้งานใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น ได้มีโอกาสเดินทางไปช่วยสนับสนุนงานน้องๆ ตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีโอกาสทำงานที่ชอบ คือ การค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการและเรียบเรียง วิเคราะห์และจัดทำเป็นเอกสารออกมาหลายเรื่อง ได้มีโอกาสทำงานขับเคลื่อนสังคมในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤตความขัดแย้งที่สูงมากระหว่างคนไทยด้วยกันเอง
แน่นอนครับ...บทบาทผม (อาจจะ) ดูลอย ๆ ในความรู้สึกของหลายคน จนผลการประเมินการทำงานในรอบปีที่ผ่านมาจะ “ต่ำเกินคาด” จนผมเองก็ “ตกใจมิใช่น้อย” ก็ตาม
แม้งานนี้เป็นเพียงงานสนับสนุน อันเป็นงานเบื้องหลัง “งานปิดทองหลังพระ” งานที่ไม่มีสปอตไลท์สาดส่อง แต่เป็นงานที่จะช่วย “ขัดสีฉวีวรรณให้คนเบื้องหน้าผุดผ่องก่อนส่งขึ้นเวที” จึงเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งให้ผมยังคงทำงานนี้ต่อไปด้วยหัวใจแห่งความมุ่งมั่น โดยประกาศนียบัตรที่ตนได้มอบให้กับตนเองคือ ความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานในงานที่ชอบ ก็เพียงพอแล้ว
จริงๆ แล้วในทุกองค์กรมีคนที่ทำงานตำแหน่งแบบผม มีคนที่พร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่สนใจช่องใส่ “เครดิต” ยินดีที่จะอยู่ข้างหลัง ไม่ต้องการให้ใครรู้ ไม่จำเป็นว่าใครต้องเห็นว่าเป็นผลงานของตน ทำมันผ่านไปได้ด้วยดี ก็พอใจแล้ว
แต่ก็นั่นเองครับ เราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่คนละอย่าง และคงไม่มีใครวิเศษกว่าใคร เพียงแค่คิดถึงนิยามคำว่า “ทีม” ว่ามันกินความกว้างไปถึงไหน เรานับใครเป็น “ทีม” กับเราบ้าง? โดยไม่ต้องสนใจช่องใส่เครดิต
เมื่องานหนึ่งได้เริ่มต้นขึ้น ณ วินาทีนั้น มีคนไม่กี่คนที่จะได้เดินมาดเท่ขึ้นเวที ให้ไฟส่องหน้าเล่น แต่ในความมืดด้านล่างเวทีแล้ว ย่อมมีรอยยิ้มของ “คนข้างหลัง” ร่วมภูมิใจอยู่ในสถานที่นั้นด้วย “คนข้างหลัง” ที่มองหน้ากัน และมอบรางวัล “ความทุ่มเทใจให้แก่กัน”
“ขอบคุณ” ทุกคนครับ ที่อยู่เป็นเพื่อนร่วมทางกันมาบนเส้นทางสายนี้ “ขอบคุณ” ที่เป็นกำลังใจสำหรับการทำงานที่ผมรัก
"ขอบคุณผู้บริหารสูงสุดองค์กร” ที่ทำให้ผมได้แสดงศักยภาพในแบบฉบับของผมออกมา และสามารถเลือกผสมผสานด้านเด่นของแต่ละคนในองค์กรเข้าด้วยกัน ให้กลายเป็นทีมที่แข็งแกร่ง ให้ทุกคนได้เก่งในแบบฉบับของตนเองให้ได้ดีที่สุด เพราะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ชอบ เก่ง และได้พัฒนาฝีมือด้านนั้นทุกวันโดยไม่ต้องฝืนทำงานในแบบที่ตัวเองไม่สนใจหรือไม่ชอบใจ
แน่นอนผมยังคงทำในสิ่งที่เชื่อต่อไป ยังปรารถนาและมุ่งมั่นจะทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามศักยภาพที่ตัวเองมี และยังคงต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ อีกมาก
“ขอบคุณ” ที่อยู่เคียงข้างกัน หากมีความคิดใดอยากแลกเปลี่ยน ผมยินดีรับฟังและเรียนรู้จากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เสมอครับ หากมีข้อติติงใดๆ ก็บอกกล่าวกันได้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น
ในวาระที่เริ่มต้นศักราชใหม่ ปี ๒๕๕๗ คงขอเพียงให้เราได้เป็น “ลมใต้ปีกซึ่งกันและกัน” เรียนรู้จากกันและกัน เพื่อสร้างสังคมที่ดีงาม สังคมที่ขนาดหัวใจกว้างขวางพอที่จะรองรับทุกความแตกต่างทางความคิดให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เราจะช่วยกันสร้างสังคมนั้นไปด้วยกัน
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๗ ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น