วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

ในอ้อมกอดรักไม่ลืมเลือน

๕ มกราคม ๒๕๕๗

“กุ้ง” ที่รัก

พี่ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหนังสือที่หนาเกือบ ๓๐๐ หน้า พี่ถึงตะลุยอ่านวันเดียวจนจบ จะให้วางก่อนก็ทำไม่ลง เลยตัดสินใจอ่านต่อทั้งที่ก็เกรงว่ากระดาษจะเป็นรอยด่างจากหยาดน้ำตา และเมื่ออ่านจนจบก็ไม่แปลกใจเลยสักนิดว่าทำไม “The Reader” ถึงเป็นหนังสือขายดีระดับโลก ทั้งอรรถรสที่ได้สัมผัสและความอิ่มเอมใจ

จากจดหมายฉบับแรกที่พี่เขียนเล่าเรื่อง “ก้าวรักในรอยจำ” และส่งมาให้อ่านนั้น กุ้งคงได้ซาบซึ้งต่อความรักของ “แลนดอน” กับ “เจมี่” ไม่มากก็น้อย มาครั้งนี้พี่อยากจะเล่าเรื่องราวความรักของชายผู้วัยอ่อนกว่าสาวคนรักถึง ๒๐ ปี ให้กุ้งฟังต่อครับ

นิยายเรื่อง “เดอะ รีดเดอร์” หรือ “The Reader” ประพันธ์โดย “เบิร์นฮาร์ด ชลิงค์” (Bernhard Schlink) ศาสตราจารย์ทางวิชากฎหมาย แห่งมหาวิทยาลัยกรุงเบอร์ลิน และแปลเป็นภาษาไทยโดย “สมชัย วิพิศมากูล” มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕

“แบร์ก” เด็กหนุ่มวัย ๑๖ ปี ต้องการกลับไปขอบคุณ “ฮันนา” สาวใหญ่วัย ๓๖ ที่ได้ให้การช่วยเหลือเขา เมื่อ ๓ เดือนก่อน ระหว่างที่เขาต้องเผชิญกับอาการของโรคตับอักเสบ

ขณะที่นั่งรอ ภาพของ “ฮันนา” ที่กำลังยกขาใส่ถุงน่อง โชว์สรีระอันงดงามหลุดรอดออกมาทางช่องประตูที่เปิดแง้มไว้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ต้องเขาหาเวลาว่างช่วงพักจากการเรียนตอนเที่ยงแวะเวียนมาหาเธอทุกวัน

ทุกๆ ครั้งก่อนจะร่วมรักกัน “ฮันนา” จะบังคับให้ “แบร์ก” “ต้องอ่านหนังสือ” ให้เธอฟังเสมอ

แต่มาวันหนึ่ง “ฮันนา” ก็หายตัวไปจากบ้านหลังนั้น เขาตามหาเธอไปทุกที่ จนรู้ความจริงว่าบริษัทรถรางที่ เธอทำงานอยู่ได้ให้เธอเปลี่ยนงานจากคนเก็บตั๋วเป็นเสมียนทำบัญชีแทน

“แบร์ก” พยายามคิดทบทวนการหายไปของ “ฮันนา” จนในที่สุดเขาจึงได้ข้อสรุปว่า คนรักของเขา “เขียนหนังสือไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก”

นี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ “ฮันนา” จึงบังคับให้เขาต้องอ่านหนังสือให้เธอฟังก่อนที่จะร่วมรักกัน เธอยอมไม่ได้ที่จะถูกประณามหยามเหยียดจากสังคมว่ามีปมด้อยในเรื่องนี้ และนี้ทำให้เธอจึงหลีกหนีงานใหม่ที่ต้องใช้ทักษะดังกล่าวเพื่อปกปิดปมด้อยนั้นไม่ให้สังคมได้รับรู้

“แบร์ก” หันมาเรียนหนังสืออย่างหนักเพื่อลืม “ฮันนา” ให้ได้ แต่เขาก็ไม่สามารถจะลบเลือนความรักครั้งนั้นลงได้ แม้เขาจะแต่งงานกับสาวอื่น มีลูกด้วยกัน แต่ก็ต้องหย่าร้างกันในที่สุด

จากความสัมพันธ์ทางกาย เปลี่ยนเป็นความผูกพันลึกซึ้ง และกลายเป็นความรัก

เขามาพบ “ฮันนา” อีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่เขาเป็นนักศึกษาด้านกฎหมายและได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ของ “นาซี” มีโอกาสเข้าไปฟังการพิพากษาคดีเกี่ยวกับค่ายกักกันของนาซีคดีหนึ่ง ซึ่ง “ฮันนา” เป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกนำตัวขึ้นศาลในคดีนั้น เหตุเพราะในอดีต “ฮันนา” เคยทำงานเป็นผู้คุมเชลยชาวยิวในค่ายกักกันแห่งหนึ่ง

ทุกครั้งที่มีการไต่สวนคดีนี้ “แบร์ก” จะละกิจกรรมอื่นมาร่วมฟังทุกครั้ง เพื่อที่จะได้พบกับ “ฮันนา” คนที่เขารัก นั่งและเฝ้ามองไปยัง “ฮันนา” ตลอดเวลา

“ฮันนา” ต้องยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้เขียนรายงานชิ้นหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เธอไม่ได้เป็นผู้ทำ ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการให้ศาลบังคับให้เธอต้องเขียนหนังสือเพื่อนำไปพิสูจน์ลายมือ

ในที่สุด “ฮันนา” ก็ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และถูกจองจำ ณ คุกแห่งหนึ่ง

หลังคดีสิ้นสุดลง “แบร์ก” กลับมาทุ่มเทกับการศึกษาอีกครั้งหนึ่งจนเรียนจบ แต่ด้วยความรักที่เขายังคงมีต่อ “ฮันนา” จึงพยายามสืบเสาะหาสถานที่คุมขัง “ฮันนา” จนพบ

เขาหวนคำนึงถึงสิ่งที่ “ฮันนา” ชื่นชอบ คือ การอ่านหนังสือให้เธอฟัง เขาเริ่มหาหนังสือดี ๆ แล้วอ่านออกเสียงอัดลงไปในเทปคาสเซส ส่งไปให้ “ฮันนา”

เขาทำแบบนี้ต่อเนื่องมาเกือบสิบปี จนวันหนึ่งมีจดหมายน้อยส่งมาจากคุก เขียนด้วยลายมือที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบว่า “เด็กน้อย เรื่องล่าสุดยอดเยี่ยมมาก ขอบใจ ฮันนา” เขาดีใจอย่างมากที่มีคำลงท้ายว่า “ฮันนา” และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาจะได้รับข้อความตอบกลับในลักษณะเดียวกันจาก “ฮันนา” ทุกครั้ง เมื่อเขาส่งเทปอัดเสียงไปให้

ข่าวหนึ่งที่ทำให้ “แบร์ก” ดีใจเป็นที่สุด เมื่อมีจดหมายส่งมาบอกว่า “ฮันนา” จะได้รับการอภัยโทษ และเธอขอร้องให้ “แบร์ก” ช่วยจัดหาที่พักและหาอาชีพให้ด้วย

“แบร์ก” จัดเตรียมทุกอย่างไว้อย่างพร้อมเพรียงเพื่อรอรับคนที่เขารัก เขานำความนี้ไปบอกกับ “ฮันนา” ก่อนการปล่อยตัวหนึ่งสัปดาห์ โดยสัญญาว่าจะไม่มีวันทอดทิ้งเธอเด็ดขาด

เช้าวันแห่งอิสรภาพของ “ฮันนา” มาถึง “แบร์ก” กลับได้รับข่าวร้ายจากเจ้าหน้าที่คุกว่า “ฮันนา” ผูกคอตายในคุกเมื่อกลางคืนที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่พาเขาไปดูห้องพักที่ “ฮันนา” ถูกคุมขังอยู่ ตรงมุมหนึ่งของห้องที่แสนคับแคบเป็นที่วางของชั้นหนังสือที่บรรจุหนังสือชื่อเดียวกับที่เขาอ่านอัดเทปส่งมาให้เธอฟัง

เจ้าหน้าที่คุกเล่าให้ฟังว่า “ฮันนา” ได้ใช้เวลาว่างที่อยู่ตามลำพัง เปิดเทปพร้อมกับพลิกหนังสือที่เธอไปยืมจากห้องสมุดเปิดอ่านตามไปด้วย

“เธอเรียนหนังสือจากเทปที่คุณส่งไปให้” เป็นคำพูดเน้นย้ำจากปากของผู้คุมรายนั้น

ตอนจบของนิยายเรื่องนี้ เป็นตอนที่ผู้คุมรายเดิมส่งกระดาษแผ่นเล็กๆ ให้กับ “แบร์ก” เป็นพินัยกรรมที่ “ฮันนา” เขียนด้วยลายมือตัวเอง ขอร้องให้ “แบร์ก” นำเงินที่เธอเก็บสะสมไว้ในกระป๋องออมสินในขณะที่เธอถูกคุมขังไปให้กับเชลยสาวคนหนึ่งที่เคยอยู่ในค่ายกักกันที่เธอทำหน้าที่เป็นผู้คุมอยู่

ข้อความในพินัยกรรมนั้นยิ่งทำให้ “แบร์ก” รักในตัวของ “ฮันนา” ยิ่งขึ้น ได้เห็นความมีน้ำใจและความพยายามของ “ฮันนา” ในการแบ่งเบาความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ที่เธอเคยได้กระทำบางสิ่งบางอย่างไว้

หลังอ่านจนจบพี่ตกอยู่ในห้วงภวังค์ไปพักใหญ่ และอดไม่ได้ที่จะขอชื่นชมผู้แต่งและคนแปลที่ได้สร้างอรรถรสให้กับผู้อ่านอย่างประทับใจยิ่ง อีกทั้งยังเรียบเรียงเรื่องราวได้อย่างแยบยล ใช้ภาษาเรียบง่าย แม้ผู้เขียนจะเล่าเรื่องราวสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้อ่านสับสนแต่อย่างใด กลับยิ่งทำให้เข้าใจภูมิหลังของพฤติกรรมตัวละครได้ดียิ่งขึ้น

ว่าไปแล้วนะครับกุ้ง ความรักและความพยายามเพื่อบางสิ่งบางอย่างสำหรับคนที่เรารัก นี้เป็นพลังสำคัญในการจรรโลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าของความรักที่เป็นพลังยิ่งใหญ่ของฝ่ายชายมีต่อคนที่เขารัก กับคุณค่าของความพยายามในตัวหญิงสาวที่มีความมานะ อดทนและฝึกฝนเพื่อพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นจากปมด้อยของตน

พี่จึงอยากให้กุ้งได้อ่านหนังสือเล่มนี้บ้าง แล้วกุ้งจะพบกับคุณค่าของความรักและความพยายามที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์คนหนึ่งจริง ๆ

อ้อ ! พี่ลืมบอกไปว่านิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยชื่อไทยว่า “ในอ้อมกอดรักไม่ลืมเลือน” ซึ่งพี่ขอยืมมาใช้ตั้งชื่อตอนของจดหมายฉบับนี้ด้วย

ลองหาเวลาอ่านดูนะคะ...พี่วางหนังสือไว้บนชั้นข้าง ๆ ทีวีค่ะ

ด้วยรักเสมอ

“พี่เอง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น