๒๖ มกราคม ๒๕๕๗
เป็นดั่งที่คาดการณ์ไว้เมื่อวานนี้ว่า (อาจ) มีความรุนแรงเกิดขึ้นในวัน “เลือกตั้งล่วงหน้า” เมื่อข้อความบนไลน์ (line) ที่ส่งมาจากเพื่อนทางเครือข่ายระบุว่า “เกิดการประทะกันที่วัดศรีเอี่ยมทำให้นายสุทิน ธาราทิน แกนนำ กปท. เสียชีวิต” จึงทำให้แต่ละคนลดความสนุกจากการทัศนาจรในทริปนี้ไปไม่น้อย
ภายหลังอาหารเช้า รถตู้ทั้ง ๘ คันก็เข้าประจำที่ กระเป๋าและสัมภาระถูกจัดเตรียมพร้อม และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ขบวนรถก็เคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่อำเภอเขาค้อ เพื่อเที่ยวชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
จุดแรกที่แวะชมคือ "ไร่บีเอ็น" แม้ผมได้ยินชื่อไร่แห่งนี้มาตั้งแต่สมัยยังเด็ก แต่ก็ไม่เคยแวะเข้ามาชมเลย วันนี้จึงถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้ครั้งแรกกับสถานที่แห่งนี้
ไร่บีเอ็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนับพันไร่ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ที่มาเที่ยวเขาค้อไม่เสื่อมคลาย จุดเด่นอยู่ที่การทำการเกษตรเชิงวิชาการแผนใหม่ ที่นำมาปรับปรุงและพัฒนากับพืชผลในไร่ จนกลายเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรสำหรับไม้เมืองหนาว ที่นี่มีพืชผัก ผลไม้ที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันตามฤดูกาลมากมาย
เช่น สตรอเบอร์รี่ ลิ้นจี่ น้อยหน่า อโวคาโด้ ลูกพลับ ผักต่างๆ เช่น แครอท บีทรูท แตงกวาญี่ปุ่น ฟักแม้ว ผักกาดแก้ว บรอคเคอรี่ และดอกไม้สวยๆ สำหรับเมืองหนาว เช่น คาร์เนชั่น แกลดิโอลัส แอสเตอร์ นอกจากนี้ยังมีสินค้าแปรรูป ประเภท ไอศครีม แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ผลไม้อบแห้ง ผลไม้แช่อิ่มประเภทต่าง ๆ
ผมใช้เวลาเดินชมไร่ลิ้นจี่ที่ปลูกไว้บนพื้นที่หลายสิบไร่ และชมไร่สตรอเบอร์รี่ซึ่งมีคนงานกำลังเก็บผลอยู่พอดี จุดที่ผู้คนให้ความสนใจมากไม่น้อยก็คือ ไม้โบราณดึกดำบรรพ์ที่ชื่อว่า “ต้นสาละ” ที่มีลูกขึ้นอยู่เต็มต้นดูแปลกตา และสวนไม้ดอกไม้ประดับที่มีดอกไม้บางชนิดที่อาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน
จุดที่สอง คือ "พิพิธภัณฑ์อาวุธ" ซึ่งมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “ฐานอิทธิ” ที่ตั้งชื่อตาม “พันเอกอิทธิ สิมารักษ์” ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ยึดพื้นที่เขาค้อคืนจาก ผกค. ในปี ๒๕๒๔ บริเวณนี้เคยเป็นฐานปืนใหญ่ที่ยิงสนับสนุนการสู้รบ
ปัจจุบันนี้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ใช้ในการสู้รบตั้งอยู่มากมาย เช่น เครื่องบินขับไล่ เอฟ ๕ รถสายพานลำเลียงพล ปืนใหญ่ ปืนใหญ่ เป็นต้น
ภายในอาคารมีห้องบรรยายสรุปเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุทธภูมิเลือดเขาค้อ มีห้องจัดนิทรรศการเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ เสื้อผ้า อาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนด้านนอกอาคารยังมีฐานอาวุธ จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ปืนใหญ่ รถถัง รถแทรกเตอร์ บังเกอร์หลบภัย แต่ละจุดมีป้ายประวัติพร้อมคำอธิบายประกอบ
จุดที่สามที่ครอบครัวสุชนเดินทางไปเยี่ยมชม คือ อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา โดดเด่นด้วยแท่งหินอ่อนรูปทรงสามเหลี่ยม ออกแบบโดย “ดร.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานเปิดอนุสรณ์สถานแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ เพื่อเตือนใจคนไทยทั้งชาติว่า "ยามใดที่คนไทยขัดแย้งกัน จะต้องมีการสูญเสียเกิดขึ้นเช่นเดียวกับ ๑,๑๗๑ ชีวิต จงอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก และได้จารึกนามทหารกล้าไว้กับองค์อนุสรณ์ "
คณะของเราให้ความสนใจกับบริเวณด้านข้างของอนุสรณ์ฯ ที่เป็นฐานจำลองการสู้รบ เป็นเนินเตี้ย ๆ มีหลุมหลบภัย มีกระสอบทรายบังเกอร์ ซึ่งในอดีตที่แห่งนี้เป็นฐานแห่งแรกที่ทหารไทยยึดคืนมาได้จากการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
จุดนี้ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งบนเขาค้อ เนื่องจากตั้งอยู่บนส่วนที่สูงที่สุด สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเนินเขาลูกเล็ก ลูกน้อย ไล่เลียงกันเป็นทะเลภู และมองเห็นทะเลหมอกด้านล่างกระจายอยู่ทั่วไป
เราแวะเติมพลังมื้อกลางวันกันที่ร้านอาหาร “ไร่จันทร์แรม” ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมาก สมกับสโลแกนของทางร้านที่ว่า “วิวสวย รวยบริการ อาหารอร่อย ดอกไม้งาม ต้องไร่จันทร์แรม” ที่นี่มีลูกค้ามาใช้บริการแน่นขนัด นอกจากนั้นในบริเวณด้านนอกยังมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับยั่วยวนนายแบบ-นางแบบมิใช่น้อยเลยทีเดียว
หลังจากนั้นเราเดินทางต่อไปยังพระตำหนักเขาค้อ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่บนเขาย่า สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๑,๑๐๐ เมตร จัดสร้างโดยบรรดาข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านภายหลังการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ ผกค. สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์ ก่อสร้างพระตำหนักเขาค้อขึ้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นที่ทรงงาน และแปรพระราชฐานมาประทับแรม ในวโรกาสที่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาตรวจเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริในพื้นที่เขาค้อ
ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถ่ายรูปบริเวณโดยรอบพระตำหนัก ซึ่งเต็มไปด้วยดอกกุหลาบหลากสีต่าง ๆ มากมาย นอกจากนั้นยังมีสนขนาดใหญ่ สูงโปร่ง กระจายอยู่เต็มบริเวณ ท่ามกลางสายหมอกกับอากาศที่เย็นสบาย วันนี้มีนักทัศนาจรกลุ่มอื่น ๆ มาเยี่ยมชมค่อนข้างหนาตา
หลังจากที่คณะของเราขึ้นรถตู้เพื่อเตรียมตัวกลับ ข่าวร้ายจากการเสียชีวิตของ “นายสุทิน ธาราทิน” ก็เดินทางมาถึง ใครหลายคนคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น บางคนถึงกับหลุดคำพูดออกมาว่า “ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในช่วงกลางวันแสก ๆ”
ระหว่างทางครอบครัวสุชนแวะจับจ่ายซื้อหาของกินที่ “ร้านกำนันจุล” ร้านขายสินค้าของฝากที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่บนถนนสายสระบุรี-หล่มสัก บริเวณสามแยกวังชมภู เป็นแหล่งจำหน่ายผลไม้ สินค้าที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าแปรรูปที่มีคุณภาพหลายอย่าง ทั้งในกลุ่มผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ อาหารแปรรูป ผ้าไหมไทย และยังมีกิจกรรมนำเที่ยวชมไร่
อาหารขึ้นชื่อที่สุดคงหนีไม่พ้นผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ เช่น เยลลี่ผลไม้นานาชนิด น้ำผลไม้เข้มข้นหลายชนิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร โดยเฉพาะปลาส้มกำนันจุล ที่หลายคนในคณะต่างหอบหิ้วพะรุงพะรังเป็นของฝากคนทางบ้าน
กว่า ๑ ทุ่มแล้ว ขบวนรถตู้มุ่งหน้าจนมาถึงจังหวัดสระบุรี แวะรับประทานอาหารเย็นกันที่ “โรงแรมเกียวอัน” ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง โรงแรมนี้ทำให้ผมอดคิดถึงสมัยที่ยังทำงานที่กรมอนามัยใหม่ ๆ ไม่ได้ เราใช้โรงแรมนี้ในการอบรม “ผู้ดูแลระบบประปาหมู่บ้าน” บ่อยครั้งมาก แม้เวลาจะผ่านมานาน แต่รสชาติอาหารที่นี่ยังเหมือนเดิม จนบางโต๊ะต้องสั่งเพิ่มโดยเฉพาะขาหมูหมั่นโถว และผัดผักคะน้าหมูกรอบ
รถตู้พาคณะของเรามาถึงสำนักงาน สช. ประมาณ ๒๑.๓๐ น. และก็เป็นเวลาที่ทุกคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน
ระหว่างเดินทางกลับ ผมฟังข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับ “สุทิน ธาราทิน” อย่างละเอียด ยิ่งทำให้อดคิดต่อไม่ได้ว่าดินแดนที่มีสมญานามว่า “สยามเมืองยิ้ม” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว และหวนคำนึงถึงข้อเตือนใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ได้ให้ไว้ในวันที่ไปเปิดอนุสรณ์สถานผู้เสียสละที่เขาค้อ ที่ว่า "ยามใดที่คนไทยขัดแย้งกัน จะต้องมีการสูญเสียอย่างผู้กล้าหาญ ๑,๑๗๑ ชีวิต ที่จารึกไว้กับองค์อนุสรณ์ จงอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก"
เหตุการณ์เช่นนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในดินแดนด้ามขวานทองแห่งนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น