วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

ธรรมนูญสุขภาพตำบล : “ก่อร่าง สร้างฝัน อนาคตตนเอง”

๑๕ มกราคม ๒๕๕๗

"ธรรมนูญสุขภาพของเรา ไม่ใช่กฎหมายที่จะไปบังคับใคร แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสัญญากับตัวเองไว้ว่าจะปฏิบัติตาม เหมือนศีลที่ทุกคนยึดถือ"

“ธรรมนูญสุขภาพตำบล” จึงเป็นทั้ง “กติการ่วม” “ข้อตกลงร่วม” “ภาพฝันร่วม” “กฎร่วม” “เป้าหมายร่วม” และ “ศีลร่วม” ที่เกิดขึ้นจากคนในตำบล มาร่วมกันคิด กำหนด ทำ และรับประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ใจ ปัญญา และสังคม

เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ มกราคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต ๖ ระยอง ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีถอดบทเรียน “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” ณ โรงแรมสตาร์ จังหวัดระยอง และโรงแรมเซนธารา จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามลำดับ

ทั้ง ๒ เวทีต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเชิญแกนนำระดับตำบลจาก ๘ จังหวัดในภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ระยอง สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด รวม ๑๒๐ ตำบล มาร่วมเรียนรู้เรื่อง “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” โดยใช้หลักการ “เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง”

กิจกรรมในเวทีได้ถูกออกแบบไว้อย่างหลากหลาย ทั้งการนำเสนอผ่านวีดิทัศน์ การเสวนา การเรียนผ่านฐานการเรียนรู้ รวมถึงการประชุมกลุ่ม

ทั้งนี้การเสวนาให้ความสำคัญกับการนำเสนอถึงประสบการณ์และบทเรียนจากพื้นที่ต้นแบบจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล ๒ แห่ง คือ ตำบลบ้านแก้ง จังหวัดสระแก้ว และตำบลหนองยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เข้าร่วม โดยมีผมทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ผลจากการทำหน้าที่ดำเนินการเสวนาและเข้าร่วมกระบวนการต่างๆ เวที ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวของ “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” ที่เต็มไปด้วยคุณค่าและประสบการณ์อันดียิ่ง อย่างน้อย ๕ ประเด็นสำคัญ ดังนี้

เรื่องที่ ๑ ความหมายของคำว่าธรรมนูญสุขภา

ตำบลหนึ่งบอกว่าเป็น “ข้อตกลงร่วม” ในขณะที่อีกตำบลหนึ่งกลับบอกว่าเป็น “กติการ่วมที่คนในพื้นที่มากำหนดไว้ด้วยกัน ว่าความสุขของคนในชุมชนควรเป็นเช่นไรในอนาคตข้างหน้า”

“ในช่วงแรกของการนำธรรมนูญเข้ามาในตำบล ชาวบ้านเขาไม่รู้จักหรอกกับคำว่า “ธรรมนูญสุขภาพ” เราจึงบอกไปว่า มันคือ “ข้อตกลงของประชาชนในตำบล” เมื่อทำเสร็จแล้ว จึงค่อยๆ บอกไปว่าควรจะเรียกชื่อให้เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ชาวบ้านจึงยอมเปลี่ยนจาก “ข้อตกลง” เป็น “ธรรมนูญสุขภาพ”

ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ธรรมนูญสุขภาพ คือ ข้อตกลงหรือกติการ่วมกันของคนในตำบล ที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ที่พึงประสงค์ อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีทั้งทางกาย ทางใจ ทางปัญญา และทางสังคม

เรื่องที่ ๒ หลักการสำคัญของธรรมนูญสุขภาพ

ทั้ง ๒ ตำบล ต่างยืนยันตรงกันว่า การทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” เกิดจากการที่คนในชุมชนทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ทุกเครือข่าย ได้เข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันติดตามประเมินผล และได้รับประโยชน์จากการทำงานร่วมกันครั้งนี้

เป็นไปตามหลักการแนวคิด “พื้นที่จัดการตนเอง” หรือ “พื้นที่จัดการกันเอง” ที่คนในพื้นที่จะมาร่วมกันแก้ไขปัญหาหรือค้นหาวิถีทางแห่งความสุขเพื่อสร้าง “ความอยู่เย็นเป็นสุขในตำบล” ด้วยกัน

เรื่องที่ ๓ เงื่อนไขสำคัญในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล

(๑) ต้องกินได้ ในที่นี้หมายถึง ภาษาที่นำมาใช้ต้องเข้าใจง่าย ชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจ ไม่ต้องไปตีความ และที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องเกิดประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน

“เคยนำธรรมนูญสุขภาพระดับชาติมาดู ต้องบอกว่าอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง คงเป็นเพราะมันเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ เลยต้องเขียนแบบนั้น ก็เลยชวนชาวบ้านมาคิดว่าจะเขียนอย่างไร ได้ข้อสรุปว่า เขียนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านดีกว่า

“ธรรมนูญสุขภาพของตำบลผม อ่านแล้วเข้าใจเลยครับ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสุขในด้านสังคมและการพัฒนาคน ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านการบริหารจัดการดี เท่านั้นเองครับ ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ลงมือได้ทันที

(๒) ต้องมาจากคนในพื้นที่ เรื่องที่จะบรรจุไว้ในธรรมนูญสุขภาพตำบล จะต้องมาจากการคิดร่วมกันของคนในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ไปคัดลอกมาจากที่อื่น หรือไปเชื่อบุคคลภายนอกที่มาบอกว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้

“ที่ตำบลผมลงไปจัดเวทีเยอะมาก ทั้งเวทีเด็ก เวทีผู้สูงอายุ เวทีผู้หญิง โดยแต่ละเวทีจะมีน้อง ๆ คอยบันทึกคอยเก็บประเด็น แล้วเราจะนำข้อเสนอเหล่านั้น มาเขียนตามหมวดหมู่ให้ครบทุกเรื่อง

“แม้เราจะไปดูงานที่ตำบลชะแล้มา แต่เราเรียนรู้แค่เรื่องกระบวนการจัดทำเท่านั้น เราไม่เคยคัดลอกเนื้อหาจากธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้มาใช้ในธรรมนูญสุขภาพของตำบลเราเลย เพราะนี้คือเรื่องของตำบลเราไม่ใช่ตำบลชะแล้”

(๓) เปิดกว้างให้คนในพื้นที่เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ร่วมรับประโยชน์ ไม่ขจัดคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปจากกระบวนการ เชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาร่วมทำงาน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงติดตามประเมินผล

“ผมจะลงไปพบกับทุกครัวเรือน เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาร่วมเวที หากตัวพ่อไม่ว่าง ก็จะบอกให้ส่งตัวแทนไปเข้าร่วมประชุม”

“เราจะวิเคราะห์ว่าในพื้นที่เรามีคนทำงานสาธารณะเป็นใครบ้าง มีกี่กลุ่ม กี่เครือข่าย เราจะเชิญให้แต่ละกลุ่มเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน ตั้งแต่ตอนเริ่มจัดทำ จนถึงประกาศใช้ และตอนขับเคลื่อน เราจะจัดให้มีผู้รับผิดชอบในธรรมนูญฯ แต่ละข้อเลย โดยมอบหมายตามที่กลุ่มของเขามีบทบาทอยู่”

“ได้ผลจริงๆครับ ไม่น่าเชื่อว่า ฤทธิ์เดชของธรรมนูญฯ จะมากมายขนาดนี้ หลายเรื่องหายไปจากหมู่บ้านผม ทั้งหวยหุ้น สนุกเกอร์ การลดละเลิกการดื่มเหล้า เพราะทุกคนช่วยกันทำ ช่วยกันดูว่าใครละเมิดธรรมนูญฯ ที่เขาไปลงชื่อปฏิญาณไว้ด้วยตนเอง”

(๔) การสร้างการรับรู้ทุกขั้นตอนเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากถ้าชาวบ้านเข้าใจมากเท่าใด เราก็ยิ่งจะได้รับความร่วมมือมากเท่านั้น ฉะนั้นการสื่อสารอย่างทั่วถึงจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“เราใช้หลายวิธีครับ ทั้งการจัดเวทีชาวบ้านที่อาศัยเวลาว่าง เช่น ช่วงเย็น ช่วงค่ำ ลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน การจัดรายการวิทยุชุมชน ก็สอดแทรกไปทีละข้อ การประชุมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านในตำบลเราก็จะขอเวลานำเสนอครับ”

“ใช้ทุกวิธีค่ะ ทั้งป้ายผ้า ป้ายประกาศต่าง ๆ เราติดเต็มไปหมด”

“เราใช้วิธีการพูดคุยปากต่อปาก โดยให้แกนนำของแต่ละกลุ่มเข้าไปทำความเข้าใจให้สมาชิกในกลุ่มตนแทนพวกเรา

(๕) สามารถปรับปรุง ทบทวนและเพิ่มเติมได้อยู่เสมอ การทำธรรมนูญฯเริ่มทำได้ทันทีไม่ต้องรอความสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ เพราะธรรมนูญสุขภาพจะมีกระบวนการทบทวน แก้ไขและเพิ่มเติมได้

“ตำบลเราไม่รอความสมบูรณ์ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเป็นแบบนั้น จะไม่มีวันได้ประกาศใช้ เราจะบอกกับชาวบ้านว่า เราขอแค่นี้ก่อน หากมีอะไรที่ยังคิดไม่ออกก็สามารถนำมาเพิ่มเติมในครั้งต่อไปได้”

“เราจะมีการจัดเวทีชาวบ้านเป็นประจำทุกปี เพื่อมาดูว่าธรรมนูญสุขภาพแต่ละข้อมีความก้าวหน้าไปอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างไหม และจำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่ หากมีความจำเป็นเราก็จะแก้ไขให้เป็นไปตามที่ตกลงกันในเวที”

(๖) ต้องมีคณะก่อการดี ประเด็นเรื่องคนทำงานนับเป็นเรื่องสำคัญของการทำงานพัฒนาชุมชน การสร้างทีมงานต้องมีคนที่มี ๔ จิต อันประกอบด้วย จิตสำนึก จิตสาธารณะ จิตอาสา และจิตเข้มแข็ง

“ผมกลับไปที่ชุมชน ผมจะสร้างโรงเรียนค้นหาคนที่มี ๓ จิต ได้แก่ คนที่มีจิตสำนึกรักบ้านรักเมืองรักชุมชน คนที่มีจิตสาธารณะที่เห็นประโยชน์ของสาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และคนที่มีจิตอาสา ที่ยินดีที่จะเสนอตัวในการทำงานอย่างเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ”

“หนูเห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น แต่คิดว่าต้องเพิ่มอีกหนึ่งจิต นั่นก็คือ คนที่มีจิตเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อต่อปัญหามีความมุ่งมั่นที่จะทำงาน เพราะงานนี้เป็นงานยากที่จะต้องให้เวลารดน้ำพรวนดิน ต้นไม้ที่ชื่อ “ธรรมนูญสุขภาพ” ต้นนี้จึงจะเติบโตและออกดอกออกผลให้ผู้คนได้เก็บกิน”

เรื่องที่ ๔ ขั้นตอนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล

๑) มีทีมทำงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงาน ซึ่งมาจากตัวแทนกลุ่มคนทำงาน หน่วยงาน องค์กร หรือชมรมต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เข้ามามีส่วนร่วม เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกันตั้งแต่ต้น

๒) ยกร่างธรรมนูญสุขภาพตำบล โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจดำเนินการได้ ๒ วิธี คือ วิธีแรกยกร่างโดยคณะทำงานที่ตั้งขึ้น และวิธีที่สองคือ ลงไปจัดเวทีชาวบ้าน เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง และนำข้อมูลที่ได้มายกร่าง

๓) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพตำบล โดยจัดให้ครอบคลุมไปถึงระดับหมู่บ้าน และอาจจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้วย จะสร้างการมีส่วนร่วมได้กว้างขวางขึ้น นอกจากนั้นยังถือเป็นการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนไปด้วยในตัว

๔) ปรับปรุงร่างธรรมนูญสุขภาพตำบล ตามข้อคิดเห็นจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในแต่ละหมู่บ้านและแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

๕) จัดเวทีสมัชชาสุขภาพระดับตำบล เพื่อให้ตัวแทนทุกหมู่บ้าน และทุกหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายต่าง ๆ ให้ความเห็นชอบ

๕) ประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพตำบล โดยควรจัดในวันสำคัญ เช่น วันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ เป็นต้น ทั้งนี้อาจเชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีของพื้นที่ด้วย ก็จะทำให้เกิดความศรัทธาจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น

๖) วางยุทธศาสตร์และจัดให้มีกลไกเจ้าภาพในการขับเคลื่อน การวางยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบลสู่การปฏิบัติ ควรมีการกำหนดเจ้าภาพในการขับเคลื่อนให้ชัดเจน เชื่อมโยงกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรที่รับเป็นเจ้าภาพด้วย

๗) ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ควรมีการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ชื่นชมยินดีและให้กำลังใจกันในเรื่องที่ทำสำเร็จ และร่วมกันวางยุทธศาสตร์การทำงานในข้อที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

๙) ติดตาม รายงานผล ทบทวนทุกปี วางระบบการติดตามผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมสาระของธรรมนูญสุขภาพตำบล จัดให้มีการรายงานผลทุกช่องทาง อาทิ ป้ายประกาศ วิทยุชุมชน นิทรรศการ เวทีสาธารณะ เป็นต้น และหากข้อใดมีความเห็นร่วมกันก็จัดให้มีการทบทวนสาระในข้อนั้น ด้วยกระบวนการแบบมีส่วนร่วม

เรื่องที่ ๕ คุณค่าของธรรมนูญสุขภาพของตำบล

๑) เป็นสิ่งบอกทิศทางในอนาคตของตำบลว่าในอีก ๓ ปี ๕ ปี ข้างหน้า ตำบลของเราจะมีหน้าตาอย่างไร

๒) เป็นเครื่องกำหนดการจัดทำแผนงาน โครงการของหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ ที่อยู่ในตำบล

๓) เป็นพื้นที่สาธารณะในการยึดโยงคน หมู่บ้าน หน่วยงาน องค์กร ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน นำไปสู่การทำงานแบบบูรณาการกันอย่างแท้จริง

๔) เป็นที่รวมทุนด้านกำลังคน เงิน และอื่นๆ ก่อให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกัน ไม่ซ้ำซ้อนกัน เกิดการแบ่งปันซึ่งกันและกัน

๕) เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคนในตำบลมีความรักสามัคคีกัน เพราะธรรมนูญสุขภาพตำบลนั้นเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมติดตามประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์

เหล่านี้คือสาระสำคัญที่ผมเก็บได้จากเวทีทั้ง ๒ วัน นับว่าเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญและมาจากการปฏิบัติงานจริงของคนทำงานจริงในพื้นที่ สามารถนำมาไปปรับใช้ในการทำงานพื้นที่อื่นๆได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณ “ครูทุกท่าน” ที่ได้ช่วยกันต่อ เติม เสริม แต่ง จนเป็นบทเรียนสำคัญของงานการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” ในครั้งนี้ ซึ่งในอีกไม่ช้านี้ต้นกล้าที่ชื่อ “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” จะเติบโตขึ้นในกว่า ๑๒๐ ตำบลของ ๘ จังหวัดภาคตะวันออก ในประเทศไทยแห่งนี้อย่างแน่นอนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น