วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

“เขามาทำไม?” : เรื่องของ “คนเบื้องหลัง”

๑๗ มกราคม ๒๕๕๗

“อยากให้ทุกคนไปศึกษาเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไร และถ้ามีโอกาสให้ลองพูดคุยกับคนที่มาชุมนุม ว่าเขามาด้วยเหตุผลใด” เป็นโจทย์ที่หัวหน้าหลักสูตร “นักสานพลัง” กล่าวขึ้น ก่อนที่ผู้เข้าอบรมเกือบ ๔๐ ชีวิต จาก ๒๐ จังหวัด จะแยกย้ายกันไปลงพื้นที่

เมื่อวานนี้ (๑๖ มกราคม) เป็นวันแรกของกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ “นักสานพลัง” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร หัวหน้าหลักสูตรตัดสินใจเพิ่มกิจกรรมนี้เข้ามา ด้วยเห็นว่าเป็นโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศในช่วงการชุมนุมของมวลมหาประชาชน ที่มีเวทีกระจายอยู่ทั่วเมืองหลวงถึง ๗ จุด

แม้ผมจะเดินทางไปเข้าร่วมชุมนุมกับมวลมหาประชาชนนับสิบครั้งตั้งแต่ตั้งเวทีที่ถนนราชดำเนินแล้วก็ตาม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะลงไปเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่ไปร่วมชุมนุมในคืนนี้ด้วย จึงเดินทางไปพร้อมกับทีมงานในฐานะ “ทีมผู้จัดงาน” รวม ๕ ชีวิต

เบื้องหน้าพวกเรา คือ ถนนพหลโยธินที่ถูกปิดห้ามรถผ่าน เราก้าวลงจากรถพร้อมกับเครื่องประดับที่มีธงชาติแซมในบางจุดของเรือนกาย

ค่อยๆ เดินลัดเลาะฝ่าผู้คนที่เดินสวนทางกลับมา มีทั้งเดินมาคนเดียว เป็นคู่ เป็นกลุ่ม มีทั้งคนวัยหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ

แทบทุกคนต่างมีแถบผ้าสีธงไตรรงค์หรือนกหวีดประดับประดาอยู่บนร่างกายอย่างน้อยหนึ่งชิ้น มีบางคนนำแถบผ้ามาประดับเต็มตัวไปหมด บนศีรษะ กรอบแว่นตา สายโพกหัว คล้องคอ ต่างหู บนแก้มและหน้าผากก็ยังมีรอยประทับรูปธงชาติไทยติด

ยิ่งใกล้เวทีเท่าใด เสียงที่ดังลั่นยิ่งสนั่นมากขึ้น คนแออัดยัดเยียดเบียดเสียดแน่นขึ้น

บนทางเดินสองฟากเริ่มมีสินค้ายอดฮิตวางขาย อันเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กางเกง แว่นตา ผ้าผูกผม สายคล้องคอ มือตบ นกหวีด

แม่ค้ามีทั้งชายหญิงวัยแรงงานผู้ใหญ่ แต่บางร้านก็ยังเป็นหนุ่มสาววัยรุ่น ปากก็เอื้อนเอ่ยเชื้อเชิญให้ซื้อสินค้าที่ตัวเองวางขาย

ยิ่งเดินลึกเข้าไป พื้นที่แทรกตัวลำบากขึ้น ก็จะเจอคนเดินขายสินค้าสีธงชาติแทนมากกว่านั่งพื้นเหมือนตอนที่เจอเข้ามา ราคาไม่แตกต่างกันนัก

“๑๐ บาท ครับ ๑๐ บาทครับ”

ผมหันไปเห็นสายรัดข้อมือสีธงชาติไทย เลยซื้อมา ๑ ชิ้น พร้อมแกะใส่ข้อมือซ้ายทันที “ขออินเทรนด์สักหน่อย”

สังเกตเห็นผู้คนต่างจับจ่ายซื้อสินค้าเหล่านี้กันอย่างคึกคัก ในใจก็คิดไปว่า “ธุรกิจแบกะดินเล็กๆ ท่ามกลางการชุมนุมแบบนี้ ที่ค่าครองชีพทุกวันนี้ก็ไม่ได้ต่ำ สร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวได้มิใช่น้อย”

พวกเราเดินมาหยุดอยู่ข้างเวทีใหญ่ เสียงนกหวีดกับมือตบดังเป็นช่วงๆ ขณะนั้นนักวิชาการมีชื่อเสียงคนหนึ่งกำลังปราศรัยอยู่ ผมติดตามการพูดของนักวิชาการคนนี้มาตลอด เพราะมักมีข้อมูลลึกมาเล่าให้ผู้ฟังเสมอ แต่นั้นเองก็มีบางช่วงพูดจาหยาบคายไปบ้าง คงเป็นเพราะต้องการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้มาชุมนุม

เราเดินฝ่าที่ชุมนุมไปเรื่อยๆ โดยไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก เดินผ่านเต็นท์ยาจึงแวะเข้าไปทักทาย เห็นกล่องยาวางเรียงรายและซ้อนเทินกันหลายสิบกล่อง เอ่ยถามเจ้าหน้าที่ว่า “เหนื่อยไหม” คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ “พอสมควรครับ เพราะต้องดูแลผู้ชุมนุมที่มาอยู่รวมกันและเจ็บป่วยพร้อมๆ กัน”

เราเดินลัดเลาะไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต และซื้อตั๋วโดยสารไปลงสถานีอโศก บนรถไม่ค่อยมีผู้โดยสารเท่าใดนัก ยามที่รถวิ่งผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ชะเง้อมองลงไป เห็นผู้คนเต็มบริเวณโดยรอบ

เมื่อถึงสถานีอโศก เดินตามทางลงมาเรื่อยๆ จนถึงตรงสะพานลอยที่ทอดยาวข้ามถนน เชื่อมตึกต่างๆ ในบริเวณนั้นเข้าด้วยกัน ผู้คนหนาตามาก เกือบทุกคนมีลักษณะเหมือนที่เวทีก่อน คือ มีสัญลักษณ์ของธงไตรรงค์ประดับไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าอาภรณ์ประจำตัว เพื่อบ่งบอกความเป็นพวกเป็นกลุ่มเดียวกัน

เรามาหยุดอยู่บนสะพานลอย มองลงไปด้านล่างเห็นเวทีไฮปาร์คชัดเจน มองไกลออกไปเห็นผู้มาชุมนุมแน่นขนัด นั่งบ้าง ยืนบ้างเต็มพื้นที่ เสียงไฟบริเวณนั้นสว่างจ้า

มีผู้คนเดินสวนไปสวนมาตลอด แต่มีชายกลุ่มหนึ่งหลายสิบคน ลักษณะบ่งบอกว่าเป็นคนพื้นเพภาคใต้อย่างชัดเจน ยืนกระจายอยู่ ผมเหลือบไปดูที่หน้าอก เห็นป้ายคล้องคอทุกคน ตัวอักษรที่เห็นชัดเจนก็คือ ตัว A บ้าง B บ้าง C บ้าง ซึ่งผมเห็นแล้วก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร

จึงเดินเข้าไปหาชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ตามลำพัง ส่งยิ้มไปให้ และเขาก็ส่งยิ้มตอบกลับมา บ่งบอกถึงความเป็นมิตรที่มอบให้แก่กันในเบื้องต้น

ชายคนนี้อายุ ๔๕ ปี หน้าตาดูแก่เกินวัย ผิวดำคล้ำ บ่งบอกว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด ยามยิ้มทำให้เห็นฟันเหยิน ที่มีบางซี่ได้หายไปจากปากแล้ว

“ผมเป็นคนนครศรีธรรมราชครับ มาตั้งแต่วันที่ ๙ ที่ผ่านมา กับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน ๕ คน ไม่มีใครจ้างผมหรอก ผมมาของผมเอง นั่งรถไฟมาก็ ๒๐๐ กว่าบาท มานอนที่เต็นท์ที่เขาจัดไว้ให้ กินก็กินกับเขา ไม่อดหรอก”

“ก็โทรไปหาแม่กับเมียอยู่บ่อยๆ แม่ก็บอกว่าให้ระวังตัวนะ”

“มันแย่มากนะครับพี่ เศรษฐกิจมันแย่มาก ราคายางมันตกมากเลย”

“อยากมาช่วยกำนันสุเทพให้ชนะ”

เหล่านี้คือคำตอบที่ผมได้รับจากการพูดคุยกันบนสะพานลอยย่านอโศก ขณะที่คุยกัน สายตาของเขาก็สอดส่ายคอยระแวดระวังดูผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาตลอด

ผมยกมือไหว้แกพร้อมคำบอกลา ก้าวเดินไปหาชายอีกคนหนึ่งที่กำลังยืนอยู่ตามลำพังเช่นเดียวกัน ดูอายุอ่อนกว่าชายคนก่อน อยู่ในชุดลายทหาร ที่คอมีผ้าลายสีธงชาติคล้องอยู่ มีนกหวีด ๓ อันคล้องอยู่เต็มลำคอ หน้าตาดูหล่อเหลาทีเดียว

“ผมเป็นคนสุราษฎร์ธานีครับ มา ๔ รอบแล้วตั้งแต่อยู่ที่ราชดำเนินโน่น ไปแล้วก็กลับมาใหม่ ไม่มีใครไปบอกหรอก ชวนคนในหมู่บ้านมาที่นี่ ไม่มีหรอกครับค่าจ้าง ก็ลำบากนะ แต่ก็ต้องทน เพื่อบ้านเมือง”

“พี่คิดดูสิ ผู้ว่าก็คนของเขา ส่งไปเป็นผู้ว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้านหรอก เขาฟังแต่รัฐมนตรี ราคายางตกแทบแย่ ก็บอกว่าต้องรอรัฐบาลสั่งการมา มันแย่มากครับ”

“ผมไม่ได้รู้จักกำนันสุเทพหรอก แต่ผมอยากมาช่วยแก เห็นแกเหนื่อย ชาวใต้ต้องช่วยชาวใต้ครับ"

“กินก็กินกับเขา นอนก็นอนที่เต็นท์ที่เขาจัดไว้ให้”

“เมียผมหรือ ผมไปบอกกับเขา ก็ให้มานะ เขาเข้าใจนะ เรื่องบ้านเรื่องเมืองนะ เมียผมเข้าใจดี”

“เราจะแบ่งบทบาทหน้าที่กัน จะมีรหัสบอกหน้าที่ไว้ชัดเจนครับ”

ผมพูดยังไม่ทันจบ เสียงประกาศจากผู้ดำเนินรายการจากเวทีที่อยู่กลางลานด้านล่าง ดังแว่วมาว่า “อีกสักครู่กำนันสุเทพ จะออกมาพบกับผู้ชุมนุม” ได้ยินเสียงนกหวีดผสมกับเสียงมือตบดังลั่น

การ์ดคนนั้นเดินจากผมไปโดยไม่ได้ร่ำลา แกเดินไปที่บริเวณราวสะพานลอย ที่อยู่เหนือเวทีกลาง พร้อมกับเอ่ยปากขอให้ผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่ให้ถอยห่างออกมาจากราวสะพาน พร้อมกับคำว่า “ขอโทษครับ ตรงนี้ผมขออนุญาตไม่ให้มีใครมายืนนะครับ” ซึ่งผู้ชุมนุมก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ผมเดินตามทีมงานไปตามทางเดินบนสะพานลอย ก้าวลงตามบันได แทรกตัวลัดเลาะไปหาที่ว่างหน้าเวที ที่ยังว่างอยู่ เข้าไปขออนุญาตนั่ง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ทีมงานเรานั่งฟังกำนันสุเทพพูดสักพักใหญ่ๆ พร้อมๆกับมีเสียงนกหวีดสลับกับเสียงมือตบดังสลับกันไปเป็นช่วง ๆ และพร้อมเพรียงกัน

อีก ๕ นาทีจะถึงเวลาเที่ยงคืน เราเดินทางกลับที่พักตามเส้นทางเดิมตอนขามา

ระหว่างนั้นก็อดคิดไปถึงสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะได้พูดคุยกับการ์ดทั้ง ๒ คน

“เขามาทำหน้าที่การ์ดทำไม ทั้งๆที่เขาต้องมาอยู่อย่างลำบาก ห่างลูกเมียพ่อแม่มาแสนไกล การกินการนอนก็ลำบาก ไม่สบายเหมือนอยู่บ้าน มาด้วยใจสมัคร ไม่มีใครจ้าง อีกทั้งไม่ได้รู้จักสนิมชิดเชื้อกับกำนันสุเทพอย่างใกล้ชิด”

แม้ผมยังไม่มีคำตอบกับคำถามนี้ แต่อย่างน้อยก็มีคำตอบว่า "การ์ดทั้งคู่ต่างก็เป็นคนใต้เหมือนกำนันสุเทพนั่นเอง" .....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น