วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

๑๐๐ เรื่องเล่า ร้อยเรื่องราวบันดาลใจ

๒๒ มกราคม ๒๕๕๗

“บอกกับตัวเองเสมอว่า ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้”

ไม่น่าเชื่อนะครับ วันนี้ผมมีงานเขียนผ่านเรื่องเล่าในหลายๆอารมณ์ความรู้สึกผ่านสังคมออนไลน์ครบ ๑๐๐ เรื่องไปเมื่อสองวันก่อน

หลายคนถามมาบ่อยครั้งว่า “อยากเขียนหนังสือแบบผมบ้าง” ต้องทำอย่างไร ง่ายนิดเดียวเองครับ แค่ตัดคำว่า “อยาก” ออก ให้เหลือแต่คำว่า “เขียน” จากนั้นก็อย่ารอช้า ลงมือโดยทันที

ผมเขียนไดอารี่ประจำวันมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ต่อเนื่องเหมือนทุกวันนี้ คือเขียนไปได้ช่วงหนึ่งแล้วก็หยุด และที่สำคัญคือไม่รู้จะเขียนอะไร เมื่อโตขึ้นก็กลับมาเขียนอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการบอกเล่าในแต่ละวันว่าทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ก็ไปไม่รอด สุดท้ายก็หยุดเขียนอีกเช่นเคย

มาจริงจังก็ตอนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารระดับกองของกรมแห่งหนึ่ง สมัยนั้นอธิบดีประกาศให้ทุกกองต้องนำเรื่องการจัดการความรู้เข้าไปเป็นนโยบายสำคัญ ผมจึงกลับมาเขียนงานอย่างขะมักเขม้นอีกครั้งเขียนแล้วก็นำเสนอผ่านทางเว็ปไซด์ขององค์กรที่ทำงานอยู่ สร้างบรรยากาศความคึกคัก กระตือรือร้นและสร้างความเป็นนัก (อยาก) เขียนให้กับพี่ๆ น้องๆ ในองค์กรอย่างมาก จนในที่สุดหน่วยงานของเราก็ได้รับรางวัลจากผู้บริหารกรมและถูกหยิบยกให้เป็นหน่วยงานตัวอย่างในเรื่องการเขียนเรื่องเล่าต่าง ๆ

แม้นผมย้ายมาทำงานที่องค์กรปัจจุบัน แต่ความอยากเขียนก็ยังติดตัวตามมา “ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เห็นอะไร รู้สึกอย่างไร” ก็นำมาเขียนแบบ “ตามอารมณ์หรืออารมณ์พาไป ยามขยันก็เขียน ยามขี้เกียจก็ไม่เขียน”

จวบจนเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาไม่นานนี้เอง กับการเริ่มต้นปี (งบประมาณ) ใหม่กับความท้าทายใหม่ที่มีไว้ให้พุ่งชน ผมกลับมาเริ่มต้นเขียนบล็อก (Blog)ภายใต้ชื่อ “เก็บเล็กประสมน้อย” และบอกตัวเองซ้ำๆ ทุกวันว่า “จะต้องพยายามเขียนให้ได้ทุกวัน”

ในที่สุด ณ วันนี้ ๑๐๐ เรื่องเล่า ได้เดินทางเพื่อร้อยเรื่องราวบันดาลใจต่างๆในช่วง ๑๑๔ วันที่ผ่านมาก็ปรากฏต่อสายตาของทุกท่าน แม้นไม่เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ จากเพียงความหวังที่ยังไม่เห็นในวันแรก กลายเป็นความจริงที่จับต้องได้ในวันนี้

ผมย้อนกลับไปดูเรื่องที่เขียน พบประเด็นสำคัญอย่างน้อย ๔ เรื่อง ที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ

(๑) ความหลากหลายของเนื้อหา พบว่า เรื่องราวที่ผมหยิบมาเขียนนั้นมีหลากหลายเรื่องราว ไม่จำกัดเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับงานขององค์กรที่ทำงานอยู่ การบอกเล่าเรื่องย่อจากหนังสือที่ได้อ่าน บอกเล่าชีวิตของตัวเอง เหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และเรื่องอื่นๆ อาทิ ไปอ่านพบข้อมูลความรู้หรือไปพบพื้นที่ตัวอย่างที่น่าสนใจก็หยิบมาเล่าบอกต่อกัน

(๒) ความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เขียนเอง ที่ฝีมือในการเขียนมีพัฒนาการขึ้น จากวันแรกๆ เดือนแรกๆ ที่เขียนออกมายังไม่น่าอ่าน ใช้ภาษาเยิ่นเย้อ ไม่สละสลวย ไม่มีจุดสนใจในเรื่อง ไม่มีลีลาในการนำเสนอให้ดึงดูดใจผู้อ่าน คิดแล้วอดขำกับฝีมือตนเองไม่ได้เลยเชียว แต่เมื่อมาอ่านผลงานในช่วงหลังๆ จะเห็นความแตกต่างอย่างเด่นชัด

(๓) การตอบรับจากผู้อ่าน ในที่นี้หมายถึง มีจำนวนคนเข้ามาอ่านเรื่องเล่าที่เขียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยจะเห็นจากสถิติของผู้คนที่กดไลค์ (Click like) แสดงความคิดเห็น และนำเรื่องเราของผมไปแบ่งปัน (share) ต่อผ่านทางเฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสของเรื่องที่นำเสนอในขณะนั้น โดยเฉพาะช่วงร้อนแรงทางการเมือง

(๔) การโปรยคำเพื่อดึงดูดและเชิญชวนผู้อ่านให้เข้ามาอ่านงานของเรา ผมพบว่าตนเองได้พัฒนาทักษะในการนำเสนอเรื่องเล่าที่ชวนให้สะดุดตาและน่าสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งในสมัยก่อนนั้น เพียงบันทึกลงใน บล็อก แต่ยังไม่รู้จักช่องทางเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ปัจจุบันมีคนแนะนำวิธีการนำเสนอโดยการเชื่อมโยงจากบล็อก “เก็บเล็กประสมน้อย” ที่ผมเขียนกับเฟชบุ๊ก ชื่อ “วิสุทธิ บุญญะโสภิต” และเพิ่มจุดสนใจโดยการใส่ภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ซึ่งปรากฏว่ามีจำนวนคนอ่านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หลายคนถามมาอีกว่าแรงบันดาลใจในการเขียนของผมมาจากไหน ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาจากหนังสือ “หยดน้ำแห่งจินตนาการ” ของ "นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์" ที่ได้แนะนำหลักการ ๗ ข้อง่าย ๆ สำหรับผู้ที่อยากเริ่มเขียน ไว้ดังนี้

หลักการที่ ๑ บอกกับตัวเองเสมอว่า ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้

หลักการที่ ๒ เริ่มจากสิ่งที่ “กำลังเห็น” หรือ “รับรู้” อยู่ตรงหน้า

หลักการที่ ๓ เขียนให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ทุกที่ ทุกเวลา

หลักการที่ ๔ ไม่ต้องสนใจถูกผิด ดีหรือไม่ดี แค่เขียนแล้วจดจ่ออยู่กับการเขียน

หลักการที่ ๕ สังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะกำลังเขียนให้มาก ๆ

หลักการที่ ๖ ฝึกเขียนติดต่อกันให้ได้ สัก ๒๑ วัน

หลักการที่ ๗ ค่อย ๆ ขยายขอบเขตการเขียนตามคำถามดี ๆ

มาถึงบรรทัดนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามาสู่วงการ “นัก(อยาก)เขียน” โดยนำหลักการทั้ง ๗ ข้อเป็นหลักยึด แล้ววันนั้นวันที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน วันที่มีอะไรอยากเขียนเยอะมาก วันที่ต่อมความตื่นเต้น อยากรู้ อยากเห็น อยากถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้เราเห็นให้คนอื่นบ้าง วันนั้นคือวันที่จะบอกเราชัดเจนว่า “ไม่มีอะไรยากเกินไป เมื่อหัวใจเรามุ่งมั่นและอยากเป็นครับ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น