วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

(บาง) บทเรียนจากยอดภูทับเบิก

๒๗ มกราคม ๒๕๕๗

“ที่ไหนมีอำนาจ ที่นั่นมีความหายนะ” เป็นภาษิตม้งบทหนึ่งที่แปลมาจากภาษาต้นฉบับว่า “ขอ ตือ มั่ว ฮื่อ สิ ขอเต๋อ เหลี่ย หลี่” (Qhov twg muaj hwj tshim qhov natawv liam tsim) นี้เป็นภาษิตที่สะท้อนช่องโหว่ที่สำคัญของกระบวนการทำงานของกลไกภาครัฐได้เป็นอย่างดี

บันทึกสุชนทัศนาจรตอนที่ ๒ ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ครอบครัวสุชนได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และมีโอกาสไปเที่ยวชมธรรมชาติบน “ภูทับเบิก” อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อที่มีผู้สนใจหลั่งไหลมาเยี่ยมชม จนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเฟื่องฟู

ภายหลังที่ผมโพสต์เรื่องเล่าดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ค (facebook) ได้ไม่นาน เพื่อนภาคีคนหนึ่งได้ส่งบทความ เรื่อง “อย่าแค่ค่ำคว้าดาว เช้าคว้าหมอก : เสียงเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากพี่น้องม้งภูทับเบิก” มาให้อ่านเพิ่มเติมถึงบางกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อปี ๒๕๕๔

เมื่อผมอ่านจบและลองวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ได้เห็นประเด็นสำคัญอย่างน้อย ๓ ประเด็น ที่อยากชวนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ประเด็นแรก การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพขององค์กรรัฐ ที่ขาดการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะแจ้งความเอาผิดกับทางคริสตจักรทับเบิกในฐานะเจ้าของที่ดินที่ถูกกฎหมาย

ประการที่สอง วิธีการทำงานของกลไกภาครัฐที่ยังขาดมิติการทำงานแบบปรึกษาหารือหรือรัฐศาสตร์ แต่มุ่งเน้นการทำงานที่อาศัยอำนาจทางกฎหมายหรือนิติศาสตร์แต่เพียงด้านเดียว

ประการที่สาม ความเข้มแข็งของชุมชนเป็นเกราะอันสำคัญในการถูกทำลายจากจากปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบ ซึ่งในกรณีนี้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของชาวบ้าน ประกอบกับการมีข้อมูลที่ถูกต้องและการหนุนช่วยจากองค์กรเครือข่ายภายนอก นับเป็นปัจจัยสำคัญของการยืนหยัดในสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านตัวเล็ก ๆ

แม้ว่าบทสรุปของเรื่องนี้ คือ “การยอมถอนแจ้งความ” แต่สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญจากกรณีศึกษาเรื่องนี้ คือ ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง “นโยบายสาธารณะที่ดี” ที่ต้องคำนึงกุศล ๓ ประการ อันประกอบด้วย กุศลทางปัญญา ที่ต้องมีข้อมูลวิชาการที่รอบด้าน กุศลทางสังคม ที่ต้องดำเนินการแบบมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ และกุศลทางศีลธรรม ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของนโยบายที่คำนึงถึงสาธารณะมากกว่าเพียงกลุ่มพวกพ้องของตน

เชิญชวนอ่านเรื่องราวจากกรณีศึกษานี้ร่วมกันครับ

“บ้านทับเบิก” เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนภูสูง อยู่เลยจากยอดภูทับเบิกไปอีก ๕ กิโลเมตร คนในหมู่บ้านแทบทั้งหมดกว่า ๖๐๐ ครัวเรือนเป็นชนเผ่าม้ง อาชีพหลัก คือ ปลูกกะหล่ำปลี ทำให้ที่นี่จึงเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กะหล่ำปลีที่คนเมืองกินทุกวันนี้หรือที่วางขายกันตามท้องตลาดมาจากบ้านทับเบิกกว่า ๘๐ %

คนม้งบางส่วนของหมู่บ้านประมาณ ๓๐ % นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ จึงทำให้มีการตั้งคริสตจักรทับเบิกขึ้นมาอย่างถูกต้องตามธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๔๓ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยมี “นายพรชัย บัญชาสวรรค์” เป็นครูสอนศาสนา

พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านอยู่ในความดูแลของ “ศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ ๓๘ จังหวัดเพชรบูรณ์” หรือในชื่อเดิมคือ ”ศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา” สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“บ้านทับเบิก” เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ “โครงการ Unseen Thailand” ที่ประกาศเมื่อปี ๒๕๔๖ “ภูทับเบิก” จึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ดังกล่าว

หากใครได้เห็นบรรยากาศชุ่มฟ้าฉ่ำฝน เมื่อฟ้าหลังฝนเต็มไปด้วยเมฆหมอกฝนขาวโพลนลอยอ้อยอิ่งให้ได้สัมผัส จับสูดดม ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้เขียวขจี หรือในทุก ๆ เหมันตฤดู ชื่อของ “ภูทับเบิก” ถูกนำเสนอด้วยสโลแกนเก๋ ๆ ว่า “นอนทับเบิก สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน” จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวที่ภูทับเบิกจนที่พักไม่เพียงพอ

ชาวบ้านม้งคนหนึ่งเล่าว่า “อย่าว่าแต่ที่จะกางเต็นท์เลย ที่จอดรถยังแทบไม่มี รถติดกันเป็นแถวยาว ไปไหนไม่ได้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่นี่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาว ตั้งแต่วันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ วันปีใหม่” จึงทำให้ชาวบ้านที่นี่ลุกขึ้นมาหาทางจัดการ จนมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น "วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิก" เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ ดูแลการท่องเที่ยวบนภูทับเบิก ตลอดจนมีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในที่ดินทำกินของแต่ละคนมากขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงในกรณีการก่อสร้าง “สถานคริสเตียนศึกษาภูสวรรค์” ของคริสตจักรทับเบิกด้วยเช่นเดียวกัน

ล่วงเลยมาจนถึงเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และ ๕ มกราคม ๒๕๕๔ ทาง “ศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ ๓๘” ได้มีหนังสือแจ้งมายังคริสตจักรถึง “นายพรชัย บัญชาสวรรค์” ให้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง “สถานคริสเตียนศึกษาภูสวรรค์” ที่สร้างขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๕๒ และยังมีหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรหล่มเก่า ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ ในข้อหา “เข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงก่นสร้าง หรือเผาป่า ที่ดินของรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาต และก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต”

จากข้อเท็จจริงจากปากของ “นายพรชัย บัญชาสวรรค์” ได้เล่าในขณะนั้นว่า “แม้ว่าที่ดินแห่งนี้จะอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๓๘ แต่คริสตจักรทับเบิกก็ได้ซื้อที่ดินจำนวน ๓ ไร่เศษ มาโดยถูกกฎหมายเมื่อปี ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำมาใช้ในพันธกิจของคริสตจักรในอนาคต คริสตจักรจึงไม่ใช่ผู้เข้าไปบุกรุกตามข้อกล่าวหาแต่ประการใด เพราะคริสตจักรมีสิทธิในที่ดินอยู่ก่อนแล้ว”

“และเมื่อได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากศูนย์พัฒนาสังคม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอหล่มเก่า และถึงศูนย์พัฒนาสังคม เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และ ๕ มกราคม ๒๕๕๔ ตามลำดับ เพื่อหารือถึงทางออก แนวทางการผ่อนปรนเนื่องจากได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว และพร้อมปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป แต่ก็ไม่ได้รับการแจ้งใดๆจากศูนย์พัฒนาสังคม สุดท้ายก็มีหมายเรียกมาในที่สุด”

“นายยงยุทธ สืบทายาท” ผู้อำนวยการสมาคมม้งในขณะนั้น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจยิ่งขึ้นว่า “ที่ผ่านมาในท้องถิ่นแห่งนี้ การก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอื่นใดก็ไม่เคยมีการขออนุญาตกับหน่วยงานราชการมาก่อน เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิและมีการครอบครองทำกินและใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาการฟ้องร้องใด ๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อคริสตจักรเริ่มต้นก่อสร้าง คริสตจักรได้ไปปรึกษากับองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาลว่าจะต้องขออนุญาตดำเนินการอย่างไร แต่ทาง อบต. แจ้งว่าพื้นที่ก่อสร้างไม่อยู่ในอำนาจของ อบต.จึงไม่มีการออกใบอนุญาตใดๆ คริสตจักรจึงดำเนินการก่อสร้างไป โดยเข้าใจว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างเหมือนกับการก่อสร้างที่ผ่านมา”

ตามประวัติดั้งเดิมแล้วพื้นที่แห่งนี้มีชาวม้งจำนวนมากได้เข้ามาบุกเบิกและจับจองที่ทำกินมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๖๕ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๐๒ คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดตั้งเขตนิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาในประเทศไทยขึ้น ๔ แห่ง โดยหนึ่งในจำนวนนั้น คือ “นิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาภูลมโล” เขตติดต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย รวมเนื้อที่มากกว่าสองแสนไร่

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมชาวเขาที่อยู่กระจัดกระจายซึ่งยากแก่การพัฒนาและสงเคราะห์ได้อย่างทั่วถึง ให้เข้ามาตั้งหลักแหล่ง และประกอบอาชีพเป็นการถาวรในเขตนิคม ทั้งในด้านการส่งเสริมอาชีพการเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือน ด้านการศึกษา การอนามัย ด้านการสังคมสงเคราะห์ ด้านการจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ เป็นต้น

ต่อมาในปี ๒๕๐๙ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมอบพื้นที่ดังกล่าวให้อยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และเริ่มมีหน่วยงานของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเข้ามาในพื้นที่

ปี ๒๕๑๑ – ๒๕๒๖ มีการสู้รบในพื้นที่ระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชาวม้งในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย

ปี ๒๕๒๗ – ปัจจุบัน ภายหลังจากที่มีการประกาศนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ บ้านทับเบิกจึงได้กลับคืนสู่สภาพหมู่บ้านปกติ และชาวม้งที่นี่ก็คงอยู่และทำกินในพื้นตลอดมา

ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาถึงแม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีหรือประกาศของทางราชการเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งชาวม้งอาศัยและทำกินอยู่ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการกำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินเหล่านี้แจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่รับทราบและปฏิบัติตาม การก่อสร้างใดๆ จึงไม่เคยมีการขออนุญาตมาก่อน หรือการใช้ประโยชน์ในที่ดินก็ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใดว่าต้องเฉพาะเกษตรกรรมเท่านั้น ชาวม้งในพื้นที่จึงไม่เคยขออนุญาตเรื่องการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ในที่ดินของตนเอง ประกอบกับการได้มาซึ่งสิทธิการทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินเหล่านี้ก็เป็นไปโดยชอบธรรมและสืบสิทธิในที่ดินต่อจากผู้มีสิทธิคนก่อน ๆ

เช่นเดียวกับกรณีคริสตจักรทับเบิกที่ซื้อที่ดินมาจากการซื้อต่อจากผู้มีสิทธิเดิม ที่ดินดังกล่าวได้ทำกินและใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีแล้ว จึงมิใช่เป็นการบุกรุกแผ้วถางหรือไปจับจองที่ดินของรัฐในภายหลังแต่ประการใด การครอบครองที่ดิน การพัฒนาที่ดิน ตลอดจนการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคริสตจักรจึงเป็นสิ่งอันชอบธรรม มิใช่เป็นไปตามข้อกล่าวหาของศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๓๘

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ พี่น้องม้งจากบ้านทับเบิก กว่า ๑๐๐ คน จึงเดินทางลงจากภูทับเบิกมุ่งหน้าไปยังที่ว่าการอำเภอหล่มเก่า กว่า ๔๐ กิโลเมตร เพื่อส่งเสียงขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอหล่มเก่า โดยขอให้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง “นายพรชัย บัญชาสวรรค์” ซึ่งนายอำเภอได้มอบให้ศูนย์ดำรงธรรมเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย และเสนอให้ “ศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๓๘ พิจารณาให้คริสตจักรทับเบิกดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะทำเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องชาวทับเบิก มิได้มุ่งหาผลประโยชน์แต่อย่างใด”

และในที่สุดเมื่อมีการพิสูจน์หลักฐานกันจนที่แน่นชัดว่า ที่ดินบริเวณที่ปลูกสร้างคริสตจักรได้ซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย โจทย์จึงยอม “ถอนแจ้งความ”

ผมอดไม่ได้ที่จะขอบคุณอีกครั้งสำหรับการต่อสู้ของชาวบ้านบ้านทับเบิก ที่ทำให้บนยอดภูแห่งนี้ยังคงมี “คริสตจักรทับเบิก” ไว้เป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนายืนเด่นเป็นสง่ามาจนถึงวันนี้ ยังคงมี “ภาพไม้กางเขนเด่นสง่า” ผงาดทายท้าอธรรมที่จะมารุกรานสิทธิของคนเล็ก ๆ บนผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น