วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

จดหมายถึงเพื่อน ฉบับที่ ๒

๑๓ มกราคม ๒๕๕๗

บุญส่ง เพื่อนรัก

เป็นจดหมายฉบับที่ ๒ แล้วสินะ ที่เราเขียนถึงนาย ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ตรงกับจริตของนายมาก เพราะเป็นเรื่องของ “ประชาธิปไตย” ที่พวกเราในห้องต่างใช้เวลาถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นสมัยที่ยังเรียนที่รามคำแหงด้วยกัน

แม้นเวลาจะล่วงเลยไปกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่สมัยที่พวกเราเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยจนมาวันนี้ ประเทศไทยยังไม่ไปถึงไหนเลย มิหนำซ้ำยัง “ถอยหลังเข้าคลอง” เสียอีก บ้านเมืองแสนยุ่งเหยิง แตกแยก จนน่าวิตกเป็นอย่างมาก

ตอนนี้มีการกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่แล้ว เป็นวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ซึ่งถ้านับจากวันนี้ไปก็เหลือเวลาอีกไม่ถึง ๒๐ วัน

แต่นายเชื่อไหมว่า เราขับรถไปกลับกรุงเทพ-นครสวรรค์ ทุกสัปดาห์ ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งน้อยมาก ขับรถไปเป็นกิโล บางทีเห็นป้ายของผู้สมัครเพียงป้ายเดียว ทั้ง ๆ ที่มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครกว่า ๓๐ พรรค ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อน ป่านนี้คงมีป้ายติดซ้อนกันตามเต็มท้องถนนหนทางไปหมดแล้ว ในเขตกรุงเทพฯ ยิ่งหนักใหญ่ ไม่มีป้ายของผู้สมัครที่เคยคึกคักเหมือนครั้งก่อน ๆ เลย

ตอนนี้คนไทยมีความคิดเห็นแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มหนึ่งยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคิดตรงกันข้าม เราดูข่าวทางทีวี อ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์ ก็มีแต่ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของมวลมหาประชาชน กลุ่ม นปช. ข่าวการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการที่ออกมาสนับสนุนแนวทางที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มเชื่อ แม้จะมาจากสถาบันเดียวกันแต่กลับมีความคิดเห็นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในวันสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนก่อน มีการชุมนุมของประชาชนต่อต้านการรับสมัครเลือกตั้ง จนเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน จนมีบางคนเสียชีวิตและบาดเจ็บกันไม่น้อย นายคงคิดเหมือนกับเราว่า “ประเทศไทยมันเป็นอะไรไปแล้ว”

เรื่องสำคัญอีกเรื่อง นายคงจำชื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ พรรคนี้ประกาศไม่ส่งคนลงสมัครเลย โดยประกาศต่อสาธารณะว่า กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส และการเลือกตั้งครั้งนี้อาจมีปัญหาในอนาคตได้

ขนาดที่คณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ไปเปิดรับสมัครตามจังหวัดต่าง ๆ ก็มีผู้ชุมนุมไปขัดขวางจนเกิดการปะทะกัน และในที่สุดมีบางเขตที่ไม่มีผู้สมัครเลย ในขณะที่บางเขตเลือกตั้งก็มีผู้สมัครเพียงคนเดียว

มีเสียงเรียกร้องจากองค์กรต่าง ๆ ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน แม้ตัว กกต.เองก็เสนอให้รัฐบาลเลื่อน ทางสำนักตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เสนอให้เลื่อน นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายทั่วประเทศก็ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้

เมื่อวานนี้ (๑๒ มกราคม) เราต้องรีบเดินทางจากประจวบคีรีขันธ์มาร่วมให้กำลังใจปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นคนพิจิตรเหมือนเรากับนาย ที่กำลังถูกรัฐบาลเรียกไปสอบสวนและมีข่าวว่ากดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากแกไปร่วมประชุมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ และมีแถลงการณ์ให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

“นายเอ๊ย บ้านเมืองมันยุ่งจริง ๆ ว่ะ” หากนายยังอยู่ นายต้องออกมาร่วมกับขบวนชุมนุมต่อต้านการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

มีคนมาถามเราว่า “ทำไมเราไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้”

เราตอบเขาไปด้วยคำตอบที่เรากับนายเห็นตรงกันในสมัยที่เราเรียนหนังสือด้วยกันว่า “การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย” และ “ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เพียงการเลือกตั้ง” เพราะ “การเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของประชาธิปไตย” เท่านั้น

เพราะระบอบประชาธิปไตย ต้องมีหลักการพื้นฐานอย่างน้อย ๕ ประการ

หลักสิทธิเสรีภาพ หลักนิติธรรม หลักความเสมอภาค หลักการใช้เหตุผล และ หลักการที่เสียงข้างมากต้องเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย

แต่ในช่วงหลายปีผ่านมา หลักการทั้ง ๕ ประการถูกละเมิดจนไม่เหลือ เราอยากยกตัวอย่างให้นายเห็นรูปธรรมมากขึ้น

หลักสิทธิและเสรีภาพ เราขอยกเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งปัจจุบันถูกปิดกั้นในการใช้สิทธิต่อการแสดงความคิดความเห็นต่อโครงการหรือนโยบายของรัฐอย่างมาก อาทิ โครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท จะมีการขุดแม่น้ำสายใหม่ผ่านบ้านประชาชนทั้งหลัง เขายังไม่รู้ตัว ไม่มีการแจ้งข่าวสารให้เขาทราบ ไม่มีการไปสอบถามความคิดเห็นเขาเลย จนชาวบ้านต้องออกมาต่อต้านเวทีรับฟังความคิดเห็นที่รัฐบาลจัดขึ้นเกือบทุกจังหวัด

ในเรื่องเสรีภาพของสื่อก็เหมือนกัน นายรู้ไหมว่าปัจจุบันสื่อกระแสหลักทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ถูกนายทุนทุ่มเงินซื้อ การออกข่าวอะไรที่ไปขัดแย้งกับแนวนโยบายของนายทุนจึงไม่สามารถกระทำได้ ประชาชนถูกปิดหูปิดตาโดยสิ้นเชิง ดีนะที่ปัจจุบันมีทีวีดาวเทียม จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะได้รับข่าวสารของฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล แต่ชาวบ้านที่อยู่ไกลโพ้นคงไม่มีโอกาสแบบเรา

หลักนิติธรรมยิ่งไปกันใหญ่ นายเรียนกฎหมายมา คงจำหลักการที่กล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย” ได้นะ เราอยากเปรียบเทียบให้นายเห็น หากเป็นนักการเมือง ขนาดสั่งฆ่าประชาชน ทุจริตเงินไปหลักร้อยหลักพันล้าน สามารถอยู่ลอยนวลได้ ยังพยายามหาทางใช้เสียงส่วนใหญ่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเองพ้นผิด แต่ตรงกันข้ามชาวบ้านตาดำ ๆ ไปเก็บหน่อไม้ในป่ามาประทังชีวิตกลับต้องโดยตัดสินจำคุกไปหลายปี

อีกเรื่องที่เราคิดว่านายก็ยอมรับไม่ได้คือ การไม่ยอมรับต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญของนักการเมือง แต่คดีใดที่ศาลตัดสินออกมาตรงกับความต้องการของตนก็จะออกมาชื่นชม

หลักความเสมอภาคก็เช่นเดียวกัน ใครเป็นพวกพ้องก็รอดตัว แต่หากใครเป็นฝายตรงกันข้ามกับพวกตนก็จะมีการใช้อำนาจทางกฎหมายไปกลั่นแกล้ง

หลักการใช้เหตุผล ก็ถูกละเลยเป็นอย่างมาก เรายกตัวอย่างเรื่องการประชุมในสภา แม้เสียงข้างน้อยจะมีข้อมูลดีอย่างไร เสียงส่วนใหญ่ก็ไม่ฟัง ใช้เสียงพวกมากลากไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของวุฒิสภา กับมาตรา ๑๙๐ เกี่ยวกับหนังสือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีของร่างกฎหมายประกันสังคม นี้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยเสนอกฎหมายของตนเอง แต่ “เผด็จการข้างมาก” ในรัฐสภา ก็กลับไม่รับรองร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้ได้รับการพิจารณาต่อ

สำหรับหลักการรับฟังเสียงข้างน้อย ก็อย่างที่เราบอกเมื่อสักครู่ว่า ไม่มีโดยสิ้นเชิง ใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง

เราจึงอยากบอกกับนายว่า นี้คือเหตุผลที่เราไม่เห็นด้วยที่จะเร่งรีบให้มีการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ดีเสียก่อน ให้เป็นระบบที่ได้คนดีเข้าสภา มาทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนไม่ใช่ให้กับนายทุนพรรค เป็นระบบที่สอดคล้องกับหลักการสำคัญทั้ง ๕ ประการข้างต้นไง

อีกสักครู่ เวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น. จะมีกิจกรรมเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อเปิดช่องให้มีกลไกกลางที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายมาทำการปฏิรูปประเทศไทยและปฎิรูปการเมือง โดยการเดินขบวนจากอาคารสุขภาพแห่งชาติภายในกระทรวงสาธารณสุขมุ่งหน้าไปร่วมกับขบวนของมวลมหาประชาชนที่ตั้งเวทีอยู่ที่ห้าแยกลาดพร้าว เราได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ไฮปาร์คบนรถขบวนร่วมกับทีมงาน ซึ่งเป็นงานชิ้นหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก

ตอนแรกก็ไม่มั่นใจในสิ่งที่เราได้รับมอบหมายมา แต่เมื่อนำมาคิด เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเพื่อชาติ เพื่ออนาคตของประเทศไทย เราจึงยืดอกรับอาสาที่จะทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี และอดจะถึงคิดถึงนายไม่ได้ เพราะในสมัยเราเรียนที่มหาวิทยาลัยกันนั้น เรากับนายช่วยกันพูดกับเพื่อน ๆ นักศึกษาในวันที่เราไปจัดกิจกรรมรับน้องใหม่กัน นี่ถ้านายยังอยู่นะเราจะชวนมาช่วยงานนี้อีกคน

ขณะนี้เราเตรียมข้อมูลพร้อมและมั่นใจอย่างเต็มที่แล้ว

ขออำนาจจากดวงวิญญาณของนาย จงช่วยดลบันดาลให้เราและเพื่อน ๆ เครือข่ายที่เข้าร่วมในขบวนครั้งนี้เดินหน้าไปด้วยความราบรื่น สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วยนะ

เรายืนยันว่าสิ่งที่เราทำครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเองเท่านั้น แต่เราทำเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักของคนไทยกว่า ๖๕ ล้านคน เราอยากเห็นประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขตลอดไป

หากเสร็จสิ้นงานแล้วและมีอะไรคืบหน้า....เราจะเขียนมาเล่าให้นายฟังอีกนะ

คิดถึงเพื่อนเสมอ

“เราเอง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น