๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖
คุณลองทำตามผมนะครับ
ให้คุณนึกถึงเพลง ๆ หนึ่งที่คนไทยรู้จักดี ไม่ว่าจะเป็นเพลงชาติ เพลงสรรเสริญบารมี หรือแม้แต่เพลงสมัยเด็กที่เรานิยมร้องกัน เช่น เพลงช้าง ก็ได้
"ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือปล่าว ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาว ๆ เรียกว่างวง มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่างา มีหูมีตาหางยาว"
เมื่อนึกขึ้นได้แล้วให้เก็บไว้ในใจ อย่าบอกใคร แล้วลอง ๆ มองหาไม้อะไรก็ได้ขนาดเท่าตะเกียบสัก ๑ อัน
เมื่อได้แล้ว หาคนที่พอรู้จักมาฟัง แล้วเริ่มเคาะจังหวะเพลงนั้น โดยไม่ต้องออกเสียงใด ๆ ทางปากเลย
คุณคิดว่าเพื่อนที่ชวนมานั่งฟังเราเคาะ เพื่อนคนนั้นจะรู้ไหมว่าเราเคาะเพลงอะไร
นักวิชาการชาวตะวันตกเคยทำวิจัยเรื่องนี้มาแล้ว พบว่าน้อยมากที่จะรู้ว่าเคาะเพลงอะไรให้ฟัง
เขาทำการทดลองเคาะเพลงที่คนส่วนใหญ่รู้จักต่อหน้าคน ๑๐๐ คน มีเพียงประมาณ ๑๐ คนเท่านั้นที่รู้ว่าเขากำลังเคาะเพลงอะไร ส่วนที่เหลือจะตอบว่า ไม่รู้
ข้อค้นพบนี้บอกอะไรกับเรา
เขากำลังสอนผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ส่งสารทุกอาชีพครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่ทำหน้าที่มอบหมายงาน วิทยากรที่ทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้ หรือแม้แต่คู่สนทนากันธรรมดา
เขาสอนอะไร
เขาสอนว่าคนที่มีหน้าที่ส่งสารส่วนใหญ่คิดว่า ที่ส่งสารไปนั้นคนจะเข้าใจ เพราะเรื่องนี้ง่ายนิดเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม อาจคิดผิดครับ คนรับสารอาจไม่รู้ไม่เข้าใจเลยว่า สารที่ส่งมานั้นคืออะไร
หากคนรับสารบอกว่าไม่รู้ว่าสารที่ส่งมานั้นคืออะไร ก็จะไปสร้างความหงุดหงิดให้กับคนส่งสาร เพราะคิดว่าเรื่องนี้ง่ายมากทำไมไม่รู้เรื่อง
นี้แหละคือจุดอับของผู้รู้ครับ เขาบอกว่าถ้าผู้รู้มองข้ามสิ่งเหล่านี้สิ่งที่ได้พยายามอรรถาธิบายไปนั้นก็สูญปล่าว
เหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ คนที่ทำหน้าที่ส่งสารคิดแต่เพียงว่า เรื่องนี้ง่าย และง่ายมาก ๆ เสียด้วย เรื่องนี้คนทั่วไปรู้จัก เรื่องนี้ได้อธิบายแบบช้า ๆ ไปแล้ว และอีกนานาเหตุผลที่จะคิดไป
แต่เขาลืมคิดไปว่าคนรับสารจะรู้เรื่องไหม เขาอาจจะไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน เขาไม่มีสติในการฟังในขณะที่เราจะส่งสาร เขาอาจจะกำลังไม่สบาย และ จุด จุด จุด ก็ได้
ผมอ่านเรื่องราวข้อคิดนี้จากหนังสือ "สื่อสารอย่างไรให้ติดหนึบ" อาจแล้วชัดเลยครับ ชัดตรงที่ว่า มันเป็นข้อเตือนใจให้แก่ผมได้อย่างดียิ่ง และเป็นข้อเตือนใจที่ทำให้ผมต้องปรับปรุงวิธีการนำเสนอในวาระต่าง ๆ ใหม่หมด ให้กระชับ สั้น และเข้าใจง่าย
โดยเฉพาะงานที่ผมทำเป็นงานที่บอกได้ว่า "โค-ตระ-ระ ยาก" อีกด้วย ยิ่งต้องให้ความใส่ใจในเรื่องการสื่อสารเป็นสองเท่าสามเท่า
ก็เอามาฝากกับทุกท่านครับ ผมว่าเป็นแง่คิดในการนำไปพิจารณาตรวจสอบดูสิ่งที่ตนเองปฏิบัติดูสิว่า ในการสื่อสารทุกครั้งคนฟังท่านเขาเข้าใจเนื้อหาสาระในสารที่ท่านส่งไปให้หรือไม่
บอสผมเคยเล่าให้ผมฟังว่า มีคนมาทักแกว่านิทานที่เล่าตอนบรรยายทุกครั้งสนุกดี และเมื่อถามกลับไปว่าบรรยายเรื่องอะไร คนนั้นตอบว่าจำไม่ได้ จำได้แต่นิทาน ฮาไหมล่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น