วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ธรรมนูญชีวิตคนริมปิง

วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๖

การได้รับฟังอะไรดี ๆ ที่สร้างมุมมองใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง และยิ่งเรื่องได้ฟังนั้นเป็นเรื่องที่เป็นผลอันเกิดจากงานที่องค์กรเราเข้าไปมีส่วนด้วย มันช่างสร้างความปิติทางจิตใจยิ่งนัก

เสียงนาฬิกาปลุกตอนตีสี่สิบห้านาทีตามที่ตั้งไว้ก่อนนอน เป็นตัวกระตุกให้ผมต้องรีบลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัว เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า รีบเดินทางสู่ปากซอยจับรถแท๊กซี่รีบเดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง เพื่อจะเดินทางไปพร้อมคณะไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำหนดเวลาเหินฟ้าตอน ๐๖.๓๐ น. ถึงสนามบินดอนเมือง พบคณะ ๘ ชีวิต พร้อมหน้า เดินทางโดยสายการบินแอร์เอเซีย ถึงเชียงใหม่ตรงเวลา แล้วเดินทางต่อโดยรถตู้ปรับอากาศเบาะอันแสนนุ่มเดินทางสูงเทศบาลตำบลริมปิง จังหวัดลำพูน

คณะของเราเดินทางมาที่นี้ ก็ด้วยเหตุผลเรื่องการจัดให้มีการมอบรางวัลที่มีชื่อว่า "รางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" ให้แก่พื้นที่ที่มีการจัดทำ "ธรรมนูญสุขภาพ" ค่อย ๆ อ่านนะครับ เพราะคำที่ผมใช้ ค่อนข้างจะเป็นคำใหม่ ๆ ไม่คุ้นหูนัก

คำว่า "ธรรมนูญสุขภาพ" เป็นชื่อที่เกิดจากกฎหมายฉบับหนึ่งคือ "พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐" ที่มีการกำหนดให้มีการจัดทำ "ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อใช้เป็นกรอบอ้างอิงของสังคมไทย ในคำปรารถของธรรมนูญสุขภาพระดับชาติ ได้เขียนไว้ว่า พื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดสามารถนำแนวทางไปทำเป็น "ธรรมนูญสุขภาพ" ของพื้นที่ตนได้ นี่แหละจึงเป็นที่มาของคำดังกล่าว

หลังจากที่ีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพระดับชาติในอีก ๒ ปี ถัดจากการประกาศใช้กฎหมายเมื่อปี ๒๕๕๐ ก็มีพื้นที่หลายสิบแห่งได้จัดทำ "ธรรมนูญสุขภาพ" กัน และที่ตำบลริมปิงก็เป็นหนึ่งในหลายพื้นที่นั้น

เมื่อมีหลายพื้นที่ทางองค์กรผมก็เลยดำริว่าน่าจะมีการยกย่องเชิดชูพื้นที่ทำงานเหล่านี้กัน จึงกำหนดให้มีรางวัลสำหรับมอบให้กับพื้นที่ที่มีผลงานดีเด่นขึ้น โดยจะไปมอบในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จัดขึ้นทุกปี ก็เลยเรียกรางวัลนี้ว่า "รางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ"

คงถึงบางอ้อแล้วนะครับ

ที่นี้ผมอยากเล่าถึงสิ่งที่ผมได้ฟังจากการนำเสนอกระบวนการทำงานของคนริมปิง ซึ่งวันนี้ภายในห้องประชุมเทศบาลตำบลริมปิง มีผู้คนเกือบยี่สิบคนมาร่วมประชุม ภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีตำบลริมปิง อันมีนามว่า "เอนก มหาเกียรติคุณ" ชายร่างท้วมผิวขาวสายตาดูมีความสุข นอกนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ของเทศบาล และจากหน่วยงานอื่นในตำบล ทั้ง รพ.สต. เกษตรตำบล โรงเรียน และที่สำคัญก็คือมีผู้หลักผู้ใหญ๋ที่เป็นแกนนำขับเคลื่อนงานในพื้นที่เข้าร่วมวงด้วย

หมอหมู หรือผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เล่าให้ทีมเราฟัง เราฟังไปก็รู้สึกสนุกที่ได้ยินได้ฟังกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพของคนริมปิงที่ใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มีการจัดเวทีระดับหมู่บ้านทั้ง ๑๐ หมู่บ้าน ก่อนจะนำเอาข้อมูลมายกร่าง รวมผสมเข้ากับประสบการณ์ที่ลงไปดูงานที่ตำบลชะแล้ จังหวัดสงขลา และที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เมื่อยกร่างแล้วก็จัดเวทีรับฟังใหญ่อีกรอบ เมื่อทุกฝ่ายเห็นชอบก็มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๔

เมื่อมีธรรมนูญฯ ฉบับนี้แล้ว ก็นำไปเป็นกรอบในการทำงานของทุกองค์กร หน่วยานในตำบล และที่สำคัญก็คือใช้เป็นสัญญาใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลด้วย

หนึ่งในหลายเรื่องที่ฟังแล้วประทับใจก็คือ มีผู้ประกอบการตั้งโรงงานลิตเหล้าพื้นบ้านในตำบล ปรากฎว่าได้นำเรื่องนี้มาคุยกันแล้วพบว่าขัดกับธรรมนูญฯ ที่เขียนไว้ เลยอธิบายให้กับผู้ประกอบการรายนั้นจนเข้าใจ จนทำให้เลิกการขออนุญาตไปเลย

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าประทับใจกคือ นำธรรมนูญไปเชื่อมโยงกับงานตำบลนมแม่ขององค์พระศรีรัช โดยบัญญัติไว้ในธรรมนูญเลยว่าต้องส่งเสริมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นี่แค่ ๒ ตัวอย่างในหลายสิบเรื่องที่ผมยกเอามาเป็นตัวอย่าง

ในตอนบ่าย ทีมงานเราเดินทางไปดูงานรณรงค์การลดละเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งก็ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ อย่างมากมายครับ

ก็อย่างที่บอกครับ ว่าความปิติจะเกิด หากได้รับฟังเรื่องราวที่เป็นเรื่องดี ๆ แบบนี้

ผมและทีมงานกราบลาทีมงานตำบลริมปิงมาด้วยความสุข ขณะนั่งรถตู้เดินทางออกจากพื้นที่อดคิดไปถึงคำพูดของอดีตกำนันคนหนึ่งที่ลุกขึ้นกล่าวแบบสั้น ๆ แต่มีความหมายที่ลึกซึ้งว่า

"เราใช้ธรรมนูญสุขภาพปกครองตัวเอง เหมือนกับเราใช้รัฐธรรมนูญปกครองบ้านเมือง"

นี่คือวจีเด็ดจากปราชญ์ชาวบ้าน ที่ฟังแล้วช่างลึกซึ้งจริง ๆ ครับ

แหละนี่คือเสี้ยวหนึ่งของคนริมปิงที่ลุกขึ้นมาทำ "ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง" ซึ่งผมอยากจะเรียกว่า "ธรรมนูญชีวิตคนริมปิง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น