วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน

๗ ตุลาคม ๒๕๕๖
การสร้างองค์เจดีย์ให้เข้มแข็ง สามารถตั้งมั่นทนต่อลมพายุฟ้าฝนที่ถาโถมได้อย่างยาวนาน จำเป็นจะต้องมีรากฐานที่มั่นคง ต้งลงเสาเข็มที่มั่นคง แล้วจึงค่อย ๆ ก่ออิฐถือปูนขึ้นจากฐานขึ้นสู่ตัวองค์และยอดเจดีย์อย่างพิถีพิถัน ประเทศก็เช่นเดียวกับองค์เจดีย์ที่ต้องมีการวางรากฐานจากชุมชนท้องถิ่นให้มั่นคงก่อนฉันใดก็ฉันนั้น
“สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน” คือประเด็นหลักของการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยยึดแนวคิดใหญ่ของการให้ความสำคัญกับชุมชนอันเป็นฐานของเจดีย์ที่ชื่อประเทศไทย
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม จากหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายจาก ๓ ภาคส่วน ด้วยฐานของความรู้คู่ความรัก เป้าหมายเพื่อการลดทุกข์สร้างสุขให้กับคนไทย
เราจัดมาแล้ว ๕ ครั้ง ในปีนี้จะเป็นการจัดครั้งที่ ๖ จะมีกิจกรรมใน ๒ ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นการพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย และลักษณะที่สองเป็นการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าประชุม
ปีนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิก รวม ๘ เรื่อง
เรื่องแรก เป็นเรื่องหลักที่สอดคล้องกับประเด็นหลัก นั้นคือเรื่อง การพัฒนาชุมชนเข็มแข็ง ที่มีเจตจำนงในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติระหว่างหน่วยงาน กว่า ๔๖ องค์กร ที่มีภารกิจลงไปสนับสนุนชุมชน แบบ “รวมแสงเลเซอร์”
เรื่องที่สอง เป็นเรื่อง การจัดอาหารในโรงเรียน ที่มุ่งเน้นต้องการการจัดอาหารในโรงเรียนเพื่อสุขภาพที่ดีให้กับเด็กนักเรียน
เรื่องที่สาม เป็นเรื่อง การดูแลสื่อในการเผยแพร่ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุราและยาสูบ วัตถุประสงค์ก็ชัดเจนตามชื่อ
เรื่องที่สี่ เป็นเรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต มุ่งเน้นให้มีการรับรองแผนยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้
เรื่องที่ห้า เป็นเรื่อง นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ที่มุ่งเน้นให้มีกลไกกลางในการกำหนดมาตรฐาน ควบคุมคุณภาพ และให้คำแนะนำในการตรวจสุขภาพ ด้วยพบว่าในปัจจุบันยังมีความแตกต่างในการตรวจสุขภาพของ ๓ กองทุนหลัก ที่ยังมีทั้งส่วนเกินและส่วนขาดในการตรวจสุขภาพในปัจจุบัน
เรื่องที่หก เป็นเรื่องกรอบการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ที่ต้องการให้มีการทำงานแบบสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรที่ทำงานด้านนี้ จึงเสนอให้มีการทำกรอบงานที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ระดับสากล
เรื่องที่เจ็ด เป็นเรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างสาขาในการดูแลสุขภาพคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ก็มุ่งเน้นตามชื่อเรื่อง เพราะปัจจุบันมีความเชื่อมโยงของโรคที่เกิดจากสัตว์และสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ทำงานในแต่ละด้านเข้าด้วยกัน เรื่องนี้สำคัญมาก โดยจะเห็นได้จากเป็นประเด็นหลักในการจัดประชุมรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
เรื่องที่แปด เป็นเรื่อง การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ออกมาในปี ๒๕๕๔
วันนี้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีพี่ศิรินา (นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา) เป็นประธาน ได้พิจารณาเอกสารร่างแรกทั้ง ๘ เรื่อง มีข้อเสนอและเห็นชอบให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ ๑๖ – ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ นี้ และเมื่อได้ความคิดเห็นกลับมา จะนำมาพิจารณาปรับปรุงร่างเอกสารและจัดทำเป็นเอกสารร่างสอง ส่งให้กับสมาชิกผ่านกลุ่มครือข่ายที่มีอยู่ ๒๓๔ กลุ่ม เพื่อนำไปปรึกษาหารือกันและนำความคิดเห็นของกลุ่มมาประชุมในวันจัดงานต่อไป
ผมได้ยินได้ฟังกรรมการที่เข้าประชุมร่วมกันแล้ว ผมสรุปได้ว่าทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่า ระเบียบวาระเกือบทุกเรื่องมีความเชื่อมโยงกันและบทบาทสำคัญอยู่ชุมชนท้องถิ่นในการลุกขึ้นมาจัดการกับภัยในแต่ละด้านที่ถาโถมลงไป
มาร่วมไม้ร่วมมือกันด้วย "สานพลังสร้างสุขภาวะชุมชน" กันเถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น