วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สูงเม่นเมืองแห่งไมตรีจิต

๓ ตุลาคม ๒๕๕๖
เวลา ๔ ปีที่ผ่านไป ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างเกินคาด จากอดีตที่ผู้คนสูงเม่นไม่รู้จักกับธรรมนูญสุขภาพ ปัจจุบันคำนี้ได้กลายเป็นคำติดปากของคนที่นั่นอย่างถ้วนทั่ว จะทำอะไรก็ถามว่าในธรรมนูญสุขภาพเขียนไว้อย่างไร โอ้มันเป็นไปได้อย่างไรกัน
ผมจำได้ว่าในปลายปี ๒๕๕๒ ผมได้ร่วมคณะเดินทางไปที่อำเภอสูงเม่น ร่วมกับผู้บริหารองค์กร เพื่อเข้าร่วมพิธีลงนามระหว่างนายอำเภอกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งในอำเภอ เพื่อสัญญากันว่าจะร่วมกันขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามธรรมนูญสุขภาพอำเภอสูงเม่น
ธรรมนูญสุขภาพอำเภอสูงเม่น ถือเป็นธรรมนูญสุขภาพระดับอำเภอแห่งแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นจากดำริของผู้อำนวยการโรงพยาบาลสูงเม่น หรือชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "หมอแสงชัย" ซึ่งผมเคยได้ยินหมอแสงชัยเล่าให้ฟังว่า ได้รับเอกสารเล่มเล็ก ๆ ที่ สช. ส่งไปให้ นั่งอ่านดูเลยเกิดความคิดอยากจะทำธรรมนูญสุขภาพเพื่อสร้างความเป็นเจ้าของสุขภาพของคนสูงเม่นร่วมกัน เพราะในขณะนั้นชาวบ้านคิดอะไรไม่ออกก็คิดถึงโรงพยาบาล
เมื่อเหลาความคิดได้คมชัดก็เดินไปปรึกษานายอำเภอ ชวนคนที่รู้จักมาปรึกษา ทุกฝ่ายเห็นด้วยพร้อมเดินหน้าสู่เป้ามหมายที่ตั้งใจไว้ กลไกทำงานต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้งฝ่ายยกร่างสาระ ฝ่ายรับฟังความคิดเห็น ฝ่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ เวลาเกือบ ๑ ปีที่ทุกฝ่ายต่างทุ่มเทกำลังกายและใจทำงานกันอย่างหนัก ลงไปพบชาวบ้านทุกตำบล เพื่อฟังความต้องการของชาวบ้านว่า สุขภาพที่พวกเขาต้องการเป็นอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับปิดชอบ
ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อ จากเดิมที่อะไรก็ต้องโรงพยาบาล เปลี่ยนมาเป็นการกำหนดบทบาทที่ถูกกระจายกันออกไป อบต. ต้องทำอะไร โรงพยาบาลต้องทำอะไร และที่สำคัญชาวบ้านต้องทำอะไร ถูกเขียนไว้ในธรรมนูญสุขภาพฉบับนั้น
เวลาผ่านไป ๔ ปี วันนี้ผมได้เดินทางไปที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง ไปฟังคนที่นั่นเขาคุยกันว่า เขาใช้ธรรมนูญสุขภาพไปทำอะไรบ้าง
ทุกถ้อยคำที่ได้ถูกถ่ายทอดออกมา เมื่อฟังแล้วช่างสร้างความสุขให้กับตัวผมเองเป็นอย่างยิ่ง มันเป็นไปได้เพียงนั้นเชียวหรือ
ตัวอย่างที่อยากยกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม
ที่ อบต.ดอนมูล ตัวนายกได้อ่านธรรมนูญสุขภาพที่เขียนไว้ข้อหนึ่งว่าทุกตำบลต้องมี รพ.สต. ย้อนกับมาดูในตำบลตัวเอง มันยังไม่มีนี่หว่า คนในตำบลเมื่อเกิดเจ็บป่วยต้องเดินทางไปโรงพยาบาลต่างตำบลสร้างความลำบากให้กับลูกบ้าน นั่งคิดนอนคิดเลยตัดสินใจย้ายนักเรียนที่มีเพียง ๔ คน ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในตำบลให้ไปเรียนที่โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งในตำบลเดียวกัน แล้วปรับปรุงโรงเรียนแห่งนั้นเป็น รพ.สต. ประสานกับทางโรงพยาบาลสูงเม่นขอเจ้าหน้าที่ไปประจำ ทาง ผอ.รพ. ก็ใจดีจัดเจ้าหน้าที่ด้านส่งเสริมสุขภาพไปประจำ ๔ คน
ชาวบ้านดอนมูลเล่าให้ฟังว่า มีคนพิการอยู่คนหนึ่งอยู่บ้านที่หน้าโรงเรียน ชาวบ้านมาชวนให้ไปให้หมอตรวจที่โรงพยาบาล คนพิการปฏิเสธเพราะต้องเดินทางไกล แต่ทุกวันนี้คนพิการรายนั้นข้ามถนนมาที่โรงพยาบาลที่เปลี่ยนมาจากโรงเรียนแห่งนั้นเป็นประจำ คนพิการคนนั้นได้ฝากขอบคุณทุกฝ่ายมาจนทุกวันนี้
นี่เป็นเพียงเรื่องเดียวในหลายสิบเรื่องที่เป็นผลจากการมีธรรมนูญสุขภาพ
หมอแสงชัยกล่าวในที่ประชุมว่า เดี๋ยวนี้คนสูงเม่นรู้จักธรรมนูญและใช้ธรรมนูญเป็นกรอบการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ส่วนทาง อบต.ก็ใช้ธรรมนูญนี่แหละที่ใช้เป็นกอบในการจัดทำแผนงานโครงการ แม้นกระทั่งกองทุน สปสช. ระดับตำบล ก็ใช้ธรรมนูญเป็นกรอบในการกำหนดกิจกรรม
อะไรมันจะวิเศษขนาดนี้ ผมไม่เคยคาดคิดว่าคุณค่าของธรรมนูญสุขภาพจะมากมายขนาดนี้ นี่ถ้าไม่ได้ยินกับหูตัวเองผมคงไม่เชื่อ
หลักฐานยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นของจริงชิ้นหนึ่ง นั่นคือวิทยานิพนธ์ที่หมอแสงชัยทำขึ้นในสมัยเรียนระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการวิจัยเรื่องการนำธรรมนูญสุขภาพไปปฏิบัติในตำบลหนึ่ง ผลการวิจัยออกว่าว่าชาวบ้านเห็นความสำคัญ และเกิดความเป็นเจ้าของในสุขภาพของตนของสังคมอย่างแท้จริง
เพียง ๔ ปีที่ผ่านไป ความรุ่งเรืองในกระบวนการพัฒนาจากฝีมิของผู้คนที่สูงเม่น ได้ปรากฎขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยพลังส่วนหนึ่งจากเครื่องมือที่ถูกเรียกขานว่า "ธรรมนูญสุขภาพอำเภอสูงเม่น"
คำพูดหนึ่งของหมอแสงชัยกล่าวไว้ในตอนท้ายของการนำเสนอก็คือ เป้าหมายการทำงานร่วมกันของคนสูงเม่นตามธรรมนูญสุขภาพที่พวกเขาได้ร่วมเขียนก็คือ "สูงเม่นจะต้องเป็นเมืองแห่งไมตรีจิต"
โอ้ นี่ผมฝันไปหรือเปล่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น