๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖
เจอะเจอบ่อยมากกับชื่อประเด็นปัญหาที่จะพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่ตั้งไว้แบบที่เรียกว่า "กินคำใหญ่" ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่สิ่งที่ตามมาก็คือจะหนักหนาสาหัสทีเดียวกับกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ทางวิชาการที่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลมากมายมหาศาลมารองรับประเด็นที่กว้างอย่างกับทะเลนั้น
ผมมีโอกาสเดินทางไปช่วยแนะนำทีมทำงานด้านวิชาการที่รับผิดชอบในการพัฒนาเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะใช้เป็นเอกสารประกอบการประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดในช่วง ๓ เดือนหลังนี้ก็อย่างน้อย ๔ จังหวัด ทั้งที่จังหวัดสระแก้ว อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และล่าสุดคือที่จังหวัดพิษณุโลก
ได้พบเห็นชื่อประเด็นในลักษณะข้างต้นทุกเวที
ผมขออนุญาตนำมาเป็นตัวอย่างชื่อประเด็นเชิงนโยบายที่ตั้งกันไว้ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น
ความมั่นคงทางอาหาร
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความมั่นคงทางอาหารและชีวิต
ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ปลอดภัยอบายมุข
สุขภาวะผู้สูงอายุ
การพัฒนาแพทย์แผนไทย
การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
การจัดการทรัพยากร,น้ำ,ที่ดิน,ที่อยู่อาศัยและความมั่นคงด้านอาหาร
การสนับสนุนการฟื้นฟู สิทธิ แก่ สตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส
เป็นต้น
อ่านดูแล้ว ผมคิดว่าท่านคงคิดเหมือนผมที่เห็นว่า เป็นการตั้งชื่อประเด็นที่กว้างขวางมาก หาขอบเขตที่ชัดเจนยาก
ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายที่สุด ผมเลยใช้รูปภาพ ๓ ภาพ ภาพแรกเป็นภาพกำแพงเมืองจีน ภาพที่สองเป็นภาพกำแพงบ้านคอนกรีต และภาพที่สามคือภาพกำแพงบ้านที่เป็นไม้ ฉายขึ้นจอ แล้วสอบถามว่า ถ้าให้คุณเลือกคุณจะเลือกสร้างกำแพงแบบไหนที่คิดว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะสร้างได้สำเร็จ
ได้ผลครับ ทุกเสียงจะออกเลือกภาพที่สองกับภาพที่สามทั้งหมด ไม่มีใครเลือกภาพแรกที่เป็นภาพกำแพงเมืองจีนเลย
และเมื่อผมถามต่อว่า "ทำไมไม่เลือกสร้างกำแพงเมืองจีน" คำตอบที่ได้รับก็คือ "เป็นการยากที่จะสร้างเสร็จ"
ผมนำเรื่องการสร้างกำแพง ๓ รูปแบบมาเปรียบเทียบกับการกำหนดประเด็นเชิงนโยบายในกระบวนการสมัชชาสุขภาพว่ามีแนวทางเฉกเช่นเดียวกัน ไม่ควรเลือกหัวข้อขนาดใหญ่แบบกำแพงเมืองจีน เพราะจะมีความยุ่งยากมากในการทำงานด้านข้อมูล มีผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก และหากมีมติไปแล้วก็ต้องใช้เวลานับเป็นสิบ ๆ ปี หรืออาจจะต้องใช้เวลาในการทำงานยาวนานมาก จะเกิดความท้อในการทำงานได้
ฉะนั้น หลักการสำคัญในการกำหนดประเด็นเชิงนโยบายที่ดีคือ "กินคำเล็ก" หมายถึงมีขนาดของประเด็นที่เหมาะสม มีขอบเขตชัดเจน
เมื่อผมให้หลักการนี้ไป ผู้เสนอประเด็นตั้งวงคุยกันอีกรอบ ปรากฎว่าประเด็นเชิงนโยบายเปลี่ยนไป เป็น
นาข้าวปลอดภัย
การจัดการป่าชุมชน
ครอบครัวอบอุ่น
การพัฒนาความเข็มแข็งชมรมผู้สูงอายุ
การยกระดับหมอพื้นบ้านและสมุนไพร
การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังระดับชุมชน
การพัฒนาศักยภาพสภาองค์กรชุมชน
การพัฒนาความเข้มแข็งกองทุนสวัสดิการชุมชน
ตามลำดับ
ดูดีขึ้นไหมครับ มีความชัดเจนในตัวของมันเอง อ่านดูก็เข้าใจว่าจะทำอะไร และมีผลในการทำงานวิชาการเพื่อรองรับประเด็นเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น มีทิศทางการค้นคว้าที่ชัดเจน
ก็เป็นหลักคิดเล็ก ๆ ที่นำมาฝากกับคนทำงานในกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่เป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ไว้ ณ โอกาสนี้นะครับ
หากเมื่อใดจำเป็นต้องคิดเรื่องชื่อประเด็นเชิงนโยบาย ผมก็ฝากข้อคิดเรื่องกำแพง ๓ แบบ ไว้เป็นหลักในการพิจารณาประกอบด้วยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น