๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๖
มาอีกแล้ว คสช. อะไรของมั่นว่ะ คำย่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูแบบนี้ ฉันไม่รู้จักหรอก ช่วยอธิบายให้ฉันรู้จักหน่อยได้ไหม ประเทศไทยเรานี้ชอบใช้คำย่อกันจนเคยชิน ไม่สงสารคนฟังบ้างว่าฟังแล้วจะรู้เรื่องหรือไม่
ผมคิดว่าก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ แหละ ผมอ่านข่าว อ่านเอกสารต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มาจากหน่วยงานของราชการ จะมีทั้งคำย่อและคำที่ไม่ค่อยคุ้นชินปรากฎอยู่ในเอกสารเยอะแยะไปหมด
ก็เห็นใจครับ
ฉะนั้นเรามารู้จักกับตัวย่อ "คสช." กันเสียหน่อย ก่อนจะลงไปในเรื่องที่ต้องการนำเสนอในวันนี้
คสช. มาจากคำว่า "คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ" เป็นกลไกที่ถูกต้ังขึ้นตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะและคำปรึกษาต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในระดับต่าง ๆ
องค์ประกอบของ คสช. ก็ใช้กรอบยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาเป็นกรอบในการออกแบบ นั่นก็คือ กลไกชุดนี้มีประมาณ ๓๙ ราย มาจาก ๓ ภาคส่วน มาจากองค์กรรัฐและ อปท. ๑๓ คน มาจากองค์กรวิชาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๓ คน และมาจากผู้แทนภาคประชาชน อีก ๑๓ คน โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน คสช.
ปัจจุบัน ประธาน คสช. คือ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา ครับ ก็ทำหน้าที่ต่อจาก ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา พอตำรวจเอกโกวิท วัฒนะ ที่ผลัดกันมาทำหน้าที่ในรัฐบาลชุดนี้
กรรมการชุดนี้จะมีการประชุมทุก ๒ เดือน ในการประชุมแต่ละครั้งก็จะมีเรื่องราวต่าง ๆ ถูกนำเสนอและถกแถลงกันหลายเรื่อง
สำหรับการประชุมในวันนี้ก็เหมือนเช่นเคยครับ เพราะมีหลายเรื่องที่น่าสนใจและสำคัญ ได้แก่
เรื่องแรก เป็นการรายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟ้าชีวมวล ที่นำเสนอให้ที่ประชุมทราบว่า ครม. ให้ความเห็นชอบต่อมติและแผนการขับเคลื่อน โดยมี ๒ ประเด็นที่มอบหมายให้มีการดำเนินการต่อ คือ การยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลง กับเรื่องการประกาศให้กิจการนี้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เรื่องที่สอง เป็นการนำเสนอตัวอย่างการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งได้เรียนเชิญผู้แทนจากจังหวัดลำปาง ๒ ท่าน มานำเสนอกระบวนการ กลไกและเนื้อหาให้ที่ประชุมฟังได้อย่างน่าสนใจ
เรื่องที่สาม เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าเรื่องการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาสำคัญที่ คสช. มอบหมาย ในเรื่อง "ระบบสุขภาวะชุมชน" ที่มีความก้าวหน้าไปถึงขั้นการพัฒนาเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖
เรื่องที่สี่ ก็เป็นเรื่องการทำงานที่เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาสำคัญที่ คสช. มอบหมายมาอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง "อาหารกับสุขภาพ" ซึ่งเรื่องนี้ได้เชิญ อ.ไกรสิทธ์ ตันติศิรินทร์ กรรมการในคณะกรรมการอาารแห่งชาติมานำเสนอให้เห็นภาพรวมในระดับมหภาค และได้เชิญพี่สุรเดช เดชคุ้มวงศ์ กรรมการใน คสช. นำเสนอการขับเคลื่อนงานนี้ในจังหวัดพิจิติตร หรือระดับจุลภาค ให้ที่ประชุมรับทราบและช่วยกันเสนอแนะ
เรื่องที่ห้า เป็นเรื่องการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งพี่เจษฎา มิ่งสมร กรรมการใน คสช. คนหนึ่งทำหน้าที่นี้ ซึ่งต้องบอกว่าประธาน คสช.คนใหม่นี้มาจากผู้แทนภาคประชาชน หลังจากที่ผ่านมามีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ จากมหาวิทยาลัยและจากภาคธุรกิจ เป็นมาแล้ว ๓ คน คนละ ๒ ปี
นอกเหนือจากนี้ก็มีเรื่องอื่น ๆ เช่นการสรุปรายงานการทำงานของ คสช. การเลือกผู้แทน คสช. แทนตำแหน่งที่ว่างลง เป็นต้น
กิจกรรมที่สำคัญที้่จัดขึ้นเสริมกับการประชุมครั้งนี้ คือ การเจาะเลือดกรรมการและเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจวัดความเสี่ยงต่อการมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเส้นเลือด ซึ่งปรากฎว่า พบความเสี่ยงอยู่ประมาณ ๓๓ % ของผู้ที่ถูกเจาะเลือด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขนาดแค่บริโภคผักผลไม้เท่านั้นก็มีความเสี่ยงต่อพิษภัยจากสารคมีแล้ว
เหล่านี้คือเนื้อหาสาระที่ คสช. เขาคุยกัน ก็ขอสรุปส่งมาให้ทุกท่านได้รับทราบร่วมกัน ครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น