วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ระบบการตรวจสุขภาพไทยที่น่าห่วง

๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖
ความรู้สึกของผมแวบแรกเมื่อได้ยินคำว่า "ตรวจสุขภาพ" ผมจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี หากคนไทยมีการตรวจสุขภาพกันอย่างถ้วนทั่วและสม่ำเสมอ ผมคิดว่าคนไทยเราจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่านี้เป็นแน่ แต่ผมคิดผิดครับ เพราะภายใต้พรมแดงผืนนี้ มีอะไรซ่อนเร้นอยู่เยอะมาก
ผมได้มีโอกาสทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง "นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน" ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๘ - ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินกลาง
เวทีวันนี้ถูกจัดขึ้นที่โรงแรมปรินส์พาเลซ แถว ๆ โบ้เบ้ ผู้เข้าประชุมมาจากทั่วประเทศมาจากทุกจังหวัด และจากทุกองค์กร ซึ่งในห้องที่ผมทำหน้าที่มีผู้สนใจประมาณ ๖๐ คน
ข้อมูลที่อยู่ในมือของผู้เข้าประชุม ได้ถูกเรียบเรียงโดยนักวิชาการมือหนึ่งของประเทศคนหนึ่ง บ่งบอกให้รู้ว่า
ผู้ป่วยโรคเบาหวานประมาณ ๑ ใน ๓ ไม่ทราบตัวเองมาก่อนว่าเป็นโรคนี้ ในขณะที่ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงกว่าครึ่งหนึ่งไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน และสตรีอายุ ๑๕ - ๕๙ ปี เคยได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเพียง ๔๒.๕ %
ฟังดูแล้วน่าเป็นห่วงใช่ไหมครับ เพราะหากมีระบบที่ทำให้ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้รับการตรวจสุขภาพที่ดี ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้อย่างทันท่วงที
ในทางตรงกันข้ามกับกลุ่มแรกที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ แต่พบว่ายังมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งได้รับการตรวจสุขภาพเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผล
ปัญหาตามมาก็คือผู้ที่ตรวจสุขภาพเกินความจำเป็นนี้ส่วนใหญ่มักเป็นการตรวจโรคโดยให้ความสำคัญกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลที่ออกมาจะมี ๒ ลักษณะ คือ "ผลบวกลวง" อันนำไปสู่ความสิ้นเปลืองและเสี่ยงต่อการที่ต้องรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือต้องรักษาโดยไม่จำเป็น กับ "ผลลบลวง" ที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีทางการตรวจวินิจฉัย ทำให้เข้าใจว่าพฤติกรรมของตนเองดี จึงอาจประมาทไม่ควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่
ที่สำคัญก็คือในปัจจุบัน มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มีการตรวจสุขภาพมากเกินจำเป็น ในลักษณะการตรวจแบบครอบจักรวาลหรือตรวจแบบเหวี่ยงแห ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและจ่ายเงินโดยไม่จำเป็น ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ ยังพบว่ามีความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพทั้ง ๓ ระบบ บางระบบให้สิทธิ บางระบบไม่มีความชัดเจน
นี่คือปัญหาหลัก ๆ ของระบบการตรวจสุขภาพของประเทศไทยเรา
ทางออกที่สำคัญที่เป็นร่างข้อเสนอเชิงนโยบายก็คือ ประเทศไทยเราน่าจะถึงเวลาแล้วที่ควรมีกลไกระดับชาติขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นกลไกที่มากำหนดแนวทางที่สมเหตุสมผล คอยตรวจสอบและควบคุมมาตรฐาน รวมทั้งให้ความรู้และให้คำปรึกษากับประชาชนที่ถูกต้อง
บรรยากาศการประชุมวันนี้เป็นไปด้วยดี ทุกเสียงต่างลุกขึ้นสนับสนุนข้อเสนอนี้ มีเพียงปรับปรุงถ้อยคำและเสนอองค์กรที่สมควรเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย เท่านั้น
ต้องบอกว่านอกเหนือจากที่ได้มาทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่แล้ว วันนี้ผมยังได้กำไรชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ความรู้ที่คาดไม่ถึงต่อเรื่องที่ฟังผ่าน ๆ แล้ว เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ สำหรับคนไทย แต่กลับพบว่าภายใต้เรื่องดี ๆ เหล่านั้นยังมีประเด็นที่ต้องขบคิดและร่วมมือกันแก้ไขในจุดที่เป็นปัญหาอยู่หลายประการ
ข้อเสนอนี้คาดว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วย และเป็นมติในปลายปีนี้ ก็ส่งเสียงมาล่วงหน้าเพื่อให้ทุกคนเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวนี้และถ้ามีโอกาสก็สนับสนุนข้อเสนอนี้นะครับ เพราะถ้าประเทศไทยเราทำเรื่องนี้ได้ดี ผมเชื่อว่าคนไทยเราจะอายุยืนขึ้นอย่างแน่นอน
ผมขอจบปิดท้ายด้วยคำถามเล็ก ๆ ปีนี้คุณตรวจสุขภาพประจำปีหรือยังครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น