๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๖
โอ้ย อะไรของมันว่ะ อ่านแล้วงงฉิบ ภาษาแปลก ๆ ไม่เคยได้ยิน นักวิชาการนี้ชอบหาคำมาใช้ อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง
ผมจั่วหัวแบบนี้ก็เพราะว่าวันนี้ผมจะเขียนเรื่องที่พอเอ่ยคำ ๆ นี้ออกมา จะต้องมีความรู้สึกใกล้เคียงกับข้อความบรรทัดแรกแน่นอน
ใช่ครับ ผมกำลังจะพูดถึงความว่า "การอภิบาลระบบ" งงและมึนไปเลยไหมล่ะ แต่ใจเย็น ๆ ครับ ลองอ่านต่อไปอีกสักนิด แล้วความรู้สึกนั้นจะจางหายไป
เหตุที่ผมหยิบเอามาเป็นประเด็น เพราะผมได้ยินคำนี้มานาน แต่ก็มึนและงงกับคำนี้เช่นกัน แต่ผมเริ่มจะเข้าใจกับคำ ๆ นี้มากขึ้น หลังจากที่ผมได้ฟังการพูดถึงเรื่องนี้ในเวที "เตรียมความพร้อมจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมปริ้นส์พาเลส กรุงเทพมหานคร ในวันนี้
คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ ซีอีโอของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้อธิบายเรื่องนี้ให้ที่ประชุมฟัง
ท่านบอกว่าในสังคมโลก มีนักวิชาการได้เฝ้ามองกระบวนการประชาธิปไตยที่ประเทศต่าง ๆ ใช้อยู่ และจำแนกได้เป็น ๓ รูปแบบ
แบบที่หนึ่ง ก็คือประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับอำนาจรัฐ
แบบที่สอง คือประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับทุนหรือเงิน
ซึ่งในปัจจุบันนี้ ประเทศต่าง ๆ จะนิยมกับรูปแบบที่หนึ่ง และที่สองเป็นส่วนใหญ่
และหลายประเทศก็ใช้ทั้งอำนาจรัฐกับอำนาจทุนควบคู่ไปพร้อมกัน ดังจะเห็นได้จากแนวทางที่ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงการประชานิยม
คุณหมออำพล กล่าวย้ำว่าเราไม่สามารถหลีกหนีประชาธิปไตยทั้ง ๒ รูปแบบนี้ไปได้ แต่จะใช้หรือเชิ่อมโยงกับอำนาจรัฐและอำนาจทุนนี้อย่างไร
ที่นี้มาถึงประชาธิปไตยรูปแบบที่สาม ซึ่งก็คือประชาธิปไตยแบบเครือข่าย ซึ่งใช้พลังของการทำงานร่วมกันของสังคมเป็นตัวขับเคลื่อน
และรูปแบบที่สามนี่แหละคือแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่แบบเสมือน "อำนาจอ่อน" ที่หมายถึงการใช้อำนาจความรู้คู่ความรักเป็นเครื่องมือ
ฉะนั้น จึงอย่ากังวลกับข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นผลผลิตจากสมัชชาสุขภาพที่อำนาจทุนและอำนาจรัฐอาจไม่ให้ความสนใจ เพราะฐานคิดต่างกัน เมื่อคนมีฐานคิดต่างกันการกระทำจึงต่างกันไปด้วย ฉะนั้นการปรึกษาหารือเพื่อปรับจูนความคิดเข้าหากันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
แจ่มแจ้งครับ กับคำอธิบายที่ได้ฟังจากคุณหมออำพล
แล้วที่เล่ามามันเกี่ยวกับหัวเรื่องผมอย่างไร มันเกี่ยวกันตรงที่คำว่า "การอภิบาลระบบ" กับคำว่า "ประชาธิปไตย" มันเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน
การอภิบาลระบบก็จะมี ๓ รูปแบบเฉกเช่นเดียวกับ ๓ รูปแบบของประชาธิปไตยนั่นเอง
ถ้าการอภิบาลระบบเป็นอย่างไรประชาธิปไตยก็จะออกในลักษณะนั้น หากยึดรัฐ วิธีการบริหารบ้านเมืองก็จะออกมาในรูปที่รัฐเป็นใหญ่ แต่หากยึดโยงกับทุน การบริหารงานบ้านเมืองก็จะอิงกับทุนเป็นหลักแต่ถ้าเป็นแบบเครือข่ายก็จะมีกระบวนการที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเป็นหลัก
ผมคิดว่าคงพอเข้าใจขึ้นบ้างนะครับ และคงไม่บ่นว่าไม่รู้เรื่องเหมือนข้อความในบรรทัดเปิดเรื่องนี้อีกต่อไปนะครับ
อย่างไรก็ตาม ผมขอปิดเรื่องด้วยกาพย์ยานี ๑๑ ที่ผมได้แต่งขึ้นหลังจากฟังคุณหมออำพลพูดและได้อ่านในเวทีนี้ช่วงหนึ่ง อาจจะทำให้มีความเข้าใจต่อคำว่า "การอภิบาลระบบ" มากขึ้น ว่า
"เป้าหมายที่สร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นคือปัจจัย
เส้นทางประชาธิปไตย เราเครือข่าย (ต้อง) จับมือกัน
อำนาจรัฐอำนาจทุน ต้องชวนหมุนชวนแบ่งปัน
ความรู้ความรักนั้น คือพื้นฐานงานพัฒนา
เพื่อพ้องและแม่พ่อ งานสืบต่อพระศาสนา
สานรักสานปัญญา คือมรรคาสู่ปลายทาง
(เรา) จะเดินไปด้วยกัน ด้วยผูกพันข้ามสิ่งขวาง
เป้าใหญ่ที่วาดหวัง คือการสร้างประชาธิปไตย"
ด้วยจิตคารวะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น