วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อ้อย : สาวน้อยนักพัฒนาที่ตำบลปทุม

๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๖
ไม่น่าเชื่อว่า ภาพลักษณ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ผมเคยมองว่าเป็นเด็กชอบสนุกสนานไร้สาระ เมื่อ ๕ ปีก่อน ปัจจุบันได้กลายมาเป็นสตรีที่มีบุคลิกของนักวิชาการที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ของนักพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับพลังของการมีส่วนร่วมไปได้ นี่คือบทพิสูจน์หนึ่งของกระบวนการพัฒนาผ่านการทำจริงว่าสามารถหล่อหลอมให้มนุษย์เกิดความเข้มแข็งขึ้นได้
ผมรู้จัก "อ้อย" สาวน้อยชาวจังหวัดอุบลราชธานีมากว่า ๕ ปี ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมทำงานอยู่ที่กรมอนามัย โบ่อยครั้งที่ผมเดินทางลงพื้นที่เพื่อร่วมเรียนรู้การทำงานของศูนย์อนามัยที่ ๗ อุบลราชธาน ก็จะพบกับสาวน้อยคนนี้ ภาพที่ผมจำได้ในสมองของผมมาโดยตลอด "อ้อย" คือเป็นสาวน้อยที่ร่าเริงสนุกสนาน กระโดกกระเดก
เมื่อเวลาผ่านไป ผมมาเจอะ "อ้อย" นาน ๆ ครั้งในเวทีที่องค์กรผมมาทำงานด้วย ทราบว่าเธอได้ย้ายจากกรมอนามัยไปทำงานที่เทศบาลใกล้บ้านเธอแล้ว ก็ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังความคิดความเห็นในเวทีที่พบกันเท่าไหร่
แต่วันนี้เป็นวันที่ผมได้เห็นพัฒนาการของเธอ เป็นภาพที่ผมคาดไม่ถึงว่าในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ถึง ๕ ปี ภาพเก่า ๆ เหล่านั้นได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว
ในบ่ายวันนี้ ผมได้มีโอกาสร่วมไปกับขบวนของ "คณะอนุกรรมการรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" ลงไปเรียนรู้ผลของการนำแนวคิดของเครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ" ไปขับเคลื่อนในพื้นที่ของเทศบาลตำบลปทุม
ในห้องประชุมถูกจัดไว้ด้วยโต๊ะรูปตัวยู มีเก้าอี้วางเรียงซ้อนอยู่ ๒ แถว มีผู้ที่เกี่ยวข้องนั่งเต็มทุกที่
หนึ่งในคณะของทีมพื้นที่ที่มาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการฯ ไม่ใช่ใครครับ คือ "อ้อย" บุคคลที่ผมกล่าวถึง
"อ้อย" อยู่ในชุดเสื้อซาฟารีสีชมพูที่ถักทอจากผ้าพื้นเมืองของจังหวัดอุบลราชธานี ดูท่าทางเธอเคร่งขรึม ข้างหน้าเธอคือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อเชื่อมไปยังเครื่องฉาย ปรากฎตัวอักษรและภาพบนจอว่า "ขอต้อนรับคณะผู้มาเยือน"
ภายหลังจากรองนายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับคณะของเราแล้ว "อ้อย" ในบทบาทของผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ก็ขยับตัวให้เข้าที่พร้อมกดไมโครโฟนตั้งโต๊ะ กล่าวสวัสดีและเริ่มอธิบายผลการทำงานจากจุดเริ่มต้นเมื่อราว ๓ ปีก่อน แล้วค่อย ๆ ไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบัน อย่างช้า ๆ แม้ในตอนต้นจะแสดงถึงความตื่นเต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปความมีสติก็สามารถควบคุมการนำเสนอได้อย่างสั้น กระชับ ได้สาระและสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง
เรื่องเด่นที่ "อ้อย" ได้นำเสนอก็คือ การนำแนวคิดสมัชชาสุขภาพมาพัฒนาสุขภาวะของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของตำบลปทุม
สิ่งที่บ่งบอกเป็นรูปธรรมของการทำงานตามแนวคิดสมัชชาสุขภาพก็คือ การประสานความร่วมมือจากทุกองค์กร หน่วยงาน เครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในตำบลปทุม แม้จะไม่สำเร็จครบ ๑๐๐ % แต่ผู้ที่มาร่วมชี้แจงว่า ปัญหาลดน้อยลง และที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นพื้นฐานของการทำงานในโครงการอื่น ๆ ที่ได้ใช้พลังความร่วมมือนี้ไปต่อยอด
คณะอนุกรรมการฯ ทุกคนที่ไปร่วมในวันนั้น ต่างกล่าวชื่นชมในทีมงานของตำบลปทุม ซึ่งรวมถึง "อ้อย" ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ด้วย
บทกลอนเล็ก ๆ ที่ผุดขึ้นในสมองของผม ได้ถูกนำเสนอในตอนท้ายของเวที เป็นบทกลอนที่ผมแต่งขึ้นโดยสมมุติว่าเป็นความรู้สึกของ "อ้อย" ต่อการทำงานในช่วง ๓ - ๔ ปีที่ผ่านมา
"จากวันนั้นถึงวันนี้สามปีกว่า
ที่อ้อยฝ่าอุปสรรคที่กั้นขวาง
ความอดทนคือเครื่องมือที่กรุยทาง
ค่อยก้าวย่างค่อยเรียนรู้คู่ทำจริง
ปัจจุบันต้นไม้นี้เริ่มผลิดอก
อ้อยอยากบอกคือรากฐานที่ใหญ่ยิ่ง
ร้อยประสานรวมพลังเกิดขึ้นจริง
นี่คือสิ่งตอบแทนการลงทุน"
ก่อนที่ผมจะก้าวขึ้นรถกลับออกมาจากตำบลปทุม "อ้อย" ได้วิ่งมาหาผม พร้อมกับขอบทกลอนบทนี้จากผม ผมส่งกระดาษที่เขียนด้วยลายมือของผมให้กับเธอไป สิ่งตอบแทนที่ผมได้รับคือรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความสุข
ผมเชื่อมั่นว่าคำชื่นชมของคณะอนุกรรมการทุกท่านที่มีต่อเธอจะเป็นพลังในการทำงานให้กับเธอต่อไป
ผมขอเป็นกำลังใจให้กับ "อ้อย" ด้วยคนหนึ่ง และขอฝากให้ "อ้อย" ยึดหลักการของ "สมัชชาสุขภาพ" ในการทำงานต่อไป เพราะผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ "อ้อย" ทำมาในช่วง ๓ ปีกว่าเป็นสิ่งยืนยันแล้วว่า มันใช้ได้ผลจริง ๆ

1 ความคิดเห็น: