วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กองบุญสัจจะสวัสดิการไทบ้านตำบลเปือย

๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๖
คงเป็นเพราะได้มีโอกาสเข้าไปช่วยประเมินผลการจัดสวัสดิการชุมชนในเขตจังหวัดนครปฐม จึงมีให้ผมความสนใจต่อเรื่อง "สวัสดิการชุมชน" เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อได้สัมผัสแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่มีเครื่องมือในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนมากกว่าจะมารอการช่วยเหลือจากรัฐหรือองค์กรภายนอกพื้นที่ ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสก็จะลงไปเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเรื่องนี้เพื่อทำความเข้าใจต่อเรื่องนี้ให้มากขึ้น
เฉกเช่นเดียวกับเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปที่ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ พบว่าที่นี้ก็มีการจัดสวัสดิการชุมชนภายใต้ชื่อ "กองทุนสัจจะสวัสดิการไทบ้านตำบลเปือย" และเป็นกองทุนที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ผมจึงขอถือโอกาสนำมาบันทึกและบอกเล่าเพื่อแบ่งปันข้อมูลให้ขยายวงต่อไป
จากข้อมูลที่ได้ฟังและจากเอกสารที่แจก กองทุนแห่งนี้ก่อตั้งตั้งแต่วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๘ นับถึงวันนี้ก็ครบ ๑๐ ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ ๑๑ อย่างมั่นคง
ในวันเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง ๘๐๘ คน ด้วยเงินทุนเพียง ๓๑,๙๒๐ บาท แต่เมื่อสิบปีผ่านไปขยายสมาชิกถึง ๓,๓๖๐ คน ครอบคลุมสมาชิกถึง ๕ ตำบล มีเงินกองทุน ณ ปัจจุบัน สูงถึง ๙.๖ ล้านบาท ผมคงไม่คำนวณว่าเติบโตขึ้นกี่เท่าจากวันเริ่มต้น
เงินทั้งหมดมีที่มาจากสมาชิกสะสมวันละ ๑ บาท รวมแล้วกว่า ๖.๕ ล้านบาท ที่เหลือมาจากการสมทบของรัฐบาล อปท. และจากหน่วยงานต่าง ๆ จัดสรรสนับสนุน อีกส่วนหนึ่งมาจากการทำกิจกรรมของชุมชนเอง เช่น การทอดผ้าป่า และดอกเบี้ยเงินออม
บุคคลที่ถือว่าเป็นบุคคลที่ทำให้เกิดกองทุนแห่งนี้ได้ ก็คือ พระครูอุดมโพธิกิจ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศิลา อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนที่นี้และคนใกล้เคียง
สวัสดิการ ๗ เรื่อง ได้ถูกกำหนดไว้ในระเบียบ ตั้งแต่ เรื่อง เกิด เจ็บป่วย แก่ ตาย ทุนการศึกษา ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย
จากข้อมูลที่ผ่านมาได้แจกแจงรายจ่ายที่จ่ายไปในกว่า ๑๐ รายการ อาทิ เงินรับขวัญลูกที่เกิดใหม่ ช่วยค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาล การเสียชีวิต ให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ สนับสนุนกิจกรรมของชุมชน หนุนกิจกรรมเชิดชูคนดี การปล่อยให้สมาชิกกู้ การลงทุนในธุรกิจชุมชน การจัดซื้อบัตรออมทรัพย์ การพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการ การบริหารจัดการ รวมทั้งค่าตอบแทนกรรมการ
กลไกบริหารมี ๒๔ คน โดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการส่วนกลาง มี ๕ คน ทำหน้าที่ ประธาน ๑ คน เหรัญญิก ๑ คน กรรมการฝ่ายสวัสดิการ ๑ คน กรรมการฝ่ายข้อมูล ๑ คน และกรรมการฝ่ายตรวจสอบอีก ๑ คน อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกรรมการดูแลพื้นที่ ที่เป็นผู้แทนจากทุกหมู่บ้านและจากตำบลข้างเคียงที่มาเป็นสมาชิกด้วย โดยมีพระคุณเจ้าพระครูอุดมโพธิกิจ เป็นที่ปรึกษา
ในการบริหารกองทุนก็จะมีระเบียบวางไว้อย่างชัดเจน จะส่งเงินได้เมื่อใด จะเบิกเงินเมื่อใด ถูกอธิบายไว้อย่างละเอียด
เครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้นั่นก็คือวิทยุชุมชน ที่มีการตั้งสถานีวิทยุชุมเสมาพันปีตำบลเปือย คลื่นเอฟเอ็ม ๙๙ เมกกะเฮิร์ท ไว้คอยสื่อสารให้กับสมาชิกได้รับทราบข้อมูลและประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่การโฆษณา
ถ้าเราวิเคราะห์จากข้อมูลที่เห็น จะพบว่าที่นี้นับเป็นอีกกองทุนหนึ่งที่มีความเข็มแข็ง สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง มีเงินทุนที่เหมาะสม มีกลไกทำงานที่ใช้หลักการมีส่วนร่วมเป็นกรอบในการออกแบบ มีการสื่อสารที่ต่อเนื่อง มีพระเป็นศูนย์รวมดวงใจเป็นที่ปรึกษา และที่สำคัญมีการจัดสวัสดิการที่หลากหลายมากกว่าการเกิด เจ็บและตาย
ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ใฝ่ฝันอยากไปให้ถึง
ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนตำบลเปือยที่มีกองทุน อันเป็นปัจจัยสำคัญของ "ชุมชนเข้มแข็ง" ขอให้สมาชิกช่วยกันปกปักรักษาสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไว้นะครับ
เขียนไปก็อดอิจฉาคนเปือยไม่ได้ เพราะผมมั่นใจว่าที่ตำบลบ้านเกิดผมยังคงไม่ถึงขนาดนี้อย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น