วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทำไมผมคิดถึงประชาเสวนาจัง

๘ ตุลาคม ๒๕๕๖
ไม่รู้เป็นอะไรครับ อยู่ ๆ สมองของผมแวบไปคิดถึงประชาเสวนาขึ้นมา งงกับตัวเองอยู่เหมือนกัน
ในช่วง ๕ - ๖ ปี ผมมีโอกาสนำเอาเครื่องมือที่เรียกว่า "ประชาเสวนา" ไปใช้ ๒ ครั้ง
ครั้งแรก ราวปี ๒๕๕๑ นำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ตามกฎหมายที่ชื่อพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
ครั้งที่สอง เป็นอีก ๒ ปีถัดมา นำมาใช้เป็นเครื่องมือกำหนดระบบสวัสดิการสังคมของคนไทย ซึ่งทำงานร่วมกับ สสส. และทีดีอาร์ไอ
ทั้ง ๒ ครั้ง อยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ผมขอสรุปสั้น ๆ ว่า "ประชาเสวนา" มาจากภาษาอังกฤษว่า "citicen dialoge" ถ้าให้ผมแปลก็แปลตามตัวว่า เป็นเครื่องมือที่เชิญชวนประชาชนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนและหาข้อสรุปต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ประชาชนที่เข้าร่วมเวลามาจากระบบสุ่มครับ ประมาณเวทีละไม่เกิน ๕๐ คน
วิธีการก็คือจะมีการทำฉากทัศน์ หรือ scenario ของเรื่องที่ต้องการรู้ขึ้นมา อย่างเช่นเรื่องธรรมนูญสุขภาพฯ เราสร้างฉากทัศน์ขึ้นมา ๓ แบบ คือแบบดำเนินการโดยรัฐ ดำเนินการโดยเอกชน และดำเนินการโดยชุมชน เมื่อได้ฉากทัศน์แล้วเราก็โยนเข้ากลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ ๑๐ -๑๕ คน โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มดำเนินการด้วยคำถาม what why how who เมื่อทุกกลุ่มได้คำตอบก็มานำเสนอและหาฉันทามติร่วมกันกับกลุ่มอื่น ข้อไหนที่เห็นไม่ตรงกันวิทยากรกลางก็โยนเข้าเวทีขอปรึกษาโดยให้แต่ละกลุ่มแสดงเหตุผลที่กลุ่มตนคิด แล้ววิทยากรก็จะสอบถามว่าสรุปเวทีนั้นจะเอาแบบใด ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อฟังเหตุผลกันแล้ว ความคิดจะเปลี่ยนไปจนได้ข้อสรุปร่วมกัน
นั่นคือขั้นตอนหลัก ๆ ครับ อีกกิจกรรมหนึ่งที่เราใช้โอกาสการที่ประชาชนมาอยู่ด้วยกัน คือเราจะทำแบบสอบถามวัดมุมมองก่อนและหลังกระบวนการ ซึ่งปรากฎว่ามุมมองทุกคนจะเปลี่ยน เพราะได้รับข้อมูลจากเวทีและผู้เข้าร่วมเวทีคนอื่น ๆ
ก็ต้องบอกว่าเป็นเครื่องมือที่ปิดจุดอ่อนหลายประการของเครื่องมืออื่น
ปิดจุดอ่อนเรื่องคนเข้าประชุมที่มาจากระบบสุ่ม ไม่ใช่เป็นการเลือกจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กันข้อครหาได้
ปิดจุดอ่อนเรื่องการให้เวลากับคนเข้าเวทีที่มีเวลาแสดงความคิดความเห็นได้อย่างเต็มที่ และเมื่อแสดงความคิดเห็นแล้วก็ฟังคนอื่นบ้าง และหาข้อสรุปร่วมกัน
ปิดจุดอ่อนเรื่องได้ข้อสรุปต่อเรื่องนั้นว่าต้องการอะไร ทำไมถึงต้องการแบบนั้น มีวิธีการให้บรรลุอย่างไร และใครจะเป็นคนทำ ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดผู้หนึ่งไปสรุปเองในภายหลัง
และที่สำคัญเครื่องมือนี้ยังเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มทุกวัย ทุกอาชีพ ทั้งเสียงใหญ่และเสียงเล็กเสียงน้อย เพราะมาจากระบบสุ่ม เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เขียนถึงตรงนี้ ผมหาคำตอบให้กับตัวเองได้แล้วครับว่าทำไมผมจึงคิดถึงเครื่องมือนี้ในช่วงนี้
เพราะในช่วงนี้รัฐบาลกำลังจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน ไปทั่วประเทศ นั่นเอง ผมคิดไปว่าถ้ารัฐบาลนำเครื่องมือนี้ไปใช้ ผมว่าจะปิดจุดอ่อนที่อาจโดนข้อครหาได้ครับ ก็ขอเสนอความคิดความเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ มาทางนี้ เผื่อมีคนสนใจบ้าง ก็เท่านั้นแหละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น